Daily Mirror

สร้างสรรค์มุมมอง
อย่างรอบด้าน
เห็นมิติที่กว้างกว่า

เปิดโลกธุรกิจ คิดได้ขายเป็น โอทอปกับโอกาสใหม่บนโลกออนไลน์

การจัดโครงการในครั้งนี้ ต้องขอชื่นชมคณะผู้ดำเนินการที่ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล สัมภาษณ์ความต้องการของผู้เข้ารับการอบรมว่า มีปัญหาด้านใดบ้าง เพื่อจะได้จัดผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องมาแก้ปัญหาให้ตรงจุด

ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผมได้รับเกียรติจาก ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพาให้เป็นวิทยากรร่วม โครงการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และผู้ประกอบการ OTOP ภาคตะวันออก โดยร่วมกับวิทยาลัยชุมชนตราด คัดเลือกเจ้าของกิจการฯ มาเข้าร่วมโครงการรวม 30 ท่าน ด้วยงบสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
.
การจัดโครงการในครั้งนี้ ต้องขอชื่นชมคณะผู้ดำเนินการที่ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล สัมภาษณ์ความต้องการของผู้เข้ารับการอบรมว่า มีปัญหาด้านใดบ้าง เพื่อจะได้จัดผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องมาแก้ปัญหาให้ตรงจุด โดยสามเรื่องหลัก ก็คือเรื่องของการจัดการ การบริหารต้นทุน, การผลิตโดยเฉพาะการแปรรูปอาหาร และเรื่องของการตลาด รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญา
.
จากนั้นก็นำข้อมูลมาหารือกับวิทยากรทุกท่านว่า จะออกแบบวิธีการถ่ายทอดความรู้อย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ จึงมีมติร่วมกันว่า ยังคงมีการบรรยายให้ความรู้ เพื่อจุดประกายแนวคิดใหม่ให้ทุกคนสนใจกระตือรือร้นก่อน จากนั้น นำผู้ประกอบการฯ ที่ผ่านการบ่มเพาะจากมหาวิทยาลัยมาสัมภาษณ์ถึงความก้าวหน้าเป็นกรณีศึกษาแล้ว ที่แตกต่างไปคือการจัดฐานให้คำปรึกษาเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาให้ผู้ประกอบการแต่ละราย
.
ทีมที่ปรึกษาครั้งนี้แบ่งเป็น 3 ฐาน ประกอบไปด้วย ฐานที่ 1 มีผศ.ดร.บุญรัตน์  ประทุมชาติ และผม จะให้คำแนะนำเรื่องการตลาด และการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า  ฐานที่ 2 มี อ. กิตติชัย ราชมหา, อ.ดิเรก ประทุมทอง จะให้ความรู้ด้านการเงินและการบริหารจัดการแผนธุรกิจ และฐานที่ 3 เป็นหน้าที่ของ ดร.จุฬารัตน์ หงส์วลีรัตน์ และ ดร.อรอง จันทร์ประสาทสุข จะมาช่วยเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และปรับปรุงการผลิตให้ได้มาตรฐาน ซึ่งทีมงานได้แบ่งผู้ประกอบการออกเป็นสามกลุ่มๆ ละ 10 คน หมุนเวียนไปตามฐานเหล่านี้ ประมาณฐานละ 3 ชั่วโมง เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ซักถามปัญหาอย่างทั่วถึง รวมถึงการตอบคำถามอย่างละเอียด
.
เป็นครั้งแรกที่ผมเคยเจอวิธีอบรมแบบนี้ เพราะปกติแล้ว จะเป็นการบรรยายครั้งเดียวรวด 3 ถึง 6 ชั่วโมง แล้วเป็นเรื่องที่เราเลือก หรือไม่ก็เป็นการพบตัวต่อตัว ให้คำปรึกษาเฉพาะผู้ประกอบการคนเดียว ไม่เคยเจอ “ลูกผสม” แบบนี้…
.
ส่วนสำคัญที่สุดคือ วันสุดท้ายก่อนการปิดอบรมอีกสองชั่วโมง เขาเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการฯ แต่ละคนเลือกที่จะเข้าฐาน ซึ่งตนอยากจะเติมความรู้เฉพาะเรื่องเหล่านั้นเพิ่ม ถือเป็นการเรียน ที่ยึดเอา “ผู้เรียน” เป็นศูนย์กลางโดยแท้…
.
ปรากฏว่าวิธีนี้เป็นที่ถูกอกถูกใจชาวบ้าน ที่มาอบรมมาก ทั้งสามวัน ไม่มีคนขาดเรียนเลย  สิ่งสำคัญคือ เขารู้สึกว่า “คุ้มค่า” กับการเดินทางมาหาความรู้ บางคนต้องข้ามเรือ นั่งมาจากเกาะช้าง, บ้างต้องขับรถเดินทางมาจากจันทบุรี ในขณะที่เมื่อหลายปีก่อน การอบรมเรื่องเหล่านี้ ชาวบ้านจะคิดว่าเป็นเรื่อง “เสียเวลาทำมาหากิน” ถึงขนาดบางองค์กรต้องออกค่าเบี้ยเลี้ยง จ้างมาฟัง
.
มาดูเนื้อหาที่ผมให้คำปรึกษากับ ผู้ประกอบการ โอทอป หลายคนยังเข้าใจผิดว่า การเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้ดูสวยงาม น่าซื้อ จะช่วยให้ขายของได้ดีขึ้น แต่ผมอยากให้คำนึงเรื่องส่วนผสมของ “การตลาด” ก่อน โดยนอกจาก 4 P แล้ว ยังมีเรื่องของ 4 c เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นั่นคือต้องคำนึงถึงปัจจัยภายนอก และภายใน

Product ( สินค้า) Consumer ( ลูกค้า)
Price ( ราคา) Cost ( ต้นทุน)
Place ( สถานที่) Convenience ( สะดวกสบาย)
Promotion ( กิจกรรมส่งเสริมการขาย) Communication ( ติดต่อสื่อสาร)

.
วันนี้ ถ้าจะผลิตสินค้า ต้องคำนึงด้วยว่า ผลิตเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายใดซื้อ ต้องวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมเขาว่า มีวิถีชีวิตอย่างไร เช่น ปริมาณ, ส่วนผลม  (หลายสินค้าเริ่มลดปริมาณน้ำตาลลงเพื่อสุขภาพผู้บริโภค)  ในขณะที่ “ราคา” เป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อ ยุคเดิม มีผู้ผลิตน้อย เรากำหนดกำไรตามความต้องการได้ แต่ปัจุบันมีการแข่งขันมากขึ้น จึงมีการแข่งขันด้านราคาสูง เพื่อเข้าถึงลูกค้าในวงกว้าง ดังนั้น ถ้าต้องขายในราคาที่ลูกค้าอยากจ่าย ผู้ขายก็ต้องรู้จักวิธีควบคุมต้นทุนด้วย ต่อมาคือทำเลหรือสถานที่ ต้องศึกษาว่า ย่านนั้น วางสินค้าประเภทใดจึงเหมาะสม ในขณะที่ปัจจุบัน ทำเลที่ดี และลูกค้าสะดวกในการใช้บริการที่สุดกลับอยู่ในโทรศัพท์มือถือ
.
ดังนั้น การทำเว็บไซต์, การใช้โซเชียลเน็ทเวอร์ค หรือ โมบายมาร์เก็ตติ้ง จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการธุรกิจต้องทำความเข้าใจ เพราะนอกจากจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเข้าถึงลูกค้าแบบเจาะจงได้ด้วย ส่วนสุดท้ายคือ กิจกรรมกระตุ้นยอดขาย ถ้าเรามีช่องทางเพื่อให้ลูกค้าแสดงความต้องการ อย่าง facebook, line เราก็จะสามารถจัดกิจกรรมที่ถูกใจลูกค้าได้ดีกว่า ลดราคาเพียงอย่างเดียว!
.
ในปีนี้ มีผู้ประกอบการทั้งรุ่นใหม่ และรุ่นเก่า ที่รู้จักนำภูมิปัญญาการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารในรูปแบบใหม่ มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความสวยงาม น่าซื้อ รวมทั้งวิธีนำสื่ออินเทอร์เน็ตมาเป็นช่องทางค้าขาย
.
ผู้ประกอบการขายกะปิแปรรูปท่านหนึ่ง ได้นำโอ่งขนาดเล็กที่เกิดจากฝีมือการวาดของเด็กพิเศษ มาบรรจุสินค้าขาย ผมบอกว่า การ “รับผิดชอบต่อสังคม”  เป็นเรื่องที่น่ายกย่อง และสินค้าประเภทนี้เหมาะสำหรับการขายผ่านอินเทอร์เน็ตมาก ในสังคมชอบแชร์ ผมจึงทดสอบด้วยการบอกเล่าเรื่องราวนี้ผ่านไลน์กรุ๊ป พร้อมถ่ายภาพสินค้า  ปรากฏว่า เพียงวันเดียวมีคำสั่งซื้อเข้ามาถึง 15 กระปุก และเมื่อจัดส่งให้กับลูกค้าแล้ว ยังมีบางคนเอาไปโพสต์บนเฟสบุ๊คต่อ ทำใช้ชื่อเสียงของสินค้านี้กระจายออกไปในวงกว้าง  โดยเจ้าของฯไม่ต้องใช้งบการตลาดสูง
.
ในโลกออนไลน์นั้น มีเครื่องมือการตลาดหลายอย่างที่นำมาใช้ได้ฟรี ๆ ที่สำคัญ ต้องรู้ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และจะสื่อสารอย่างไรให้เขาเกิดความน่าเชื่อถือ สิบกว่าปีก่อนการทำอีคอมเมิร์ช ต้องใช้ทุนในการดำเนินงานสูง บริษัทฯ ที่ทำการค้าออนไลน์ยุคนั้นส่วนใหญ่จึงมีภาพพจน์ที่ดี ดูทันสมัย แต่ทุกวันนี้ การทำเว็บไซต์เป็นเรื่องปกติ ใครก็สามารถสร้างร้านค้าออนไลน์ได้ภายในไม่กี่นาที แต่การที่จะทำให้คนกล้าเข้ามาซื้อของนั้น ผู้ขายต้องมีความซื่อสัตย์ และรับผิดชอบ ในการส่งมอบสินค้าตามที่กล่าวอ้างในเว็บไซต์….เรื่องเทคนิคในการสร้างร้านขายของบนอินเทอร์เน็ตนั้น เรียนรู้กันได้…แต่จริยธรรมการค้า บางทีต้องเกิดจากสภาพแวดล้อม
.
โชคดีว่า พ่อค้าแม่ขาย โอทอป ส่วนใหญ่ อยู่ในสังคมที่ยังมีความเอื้ออาทร ผมจึงสัมผัสได้ถึง “ความจริงใจ” เหลือแต่เพียงสอนเขาว่า จะทำการค้าออนไลน์อย่างไร ไม่ให้ถูกโกง ?