Daily Mirror

สร้างสรรค์มุมมอง
อย่างรอบด้าน
เห็นมิติที่กว้างกว่า

“พันท้ายนรสิงห์” โดย อ.ไพจิตร ศุภวารี

1
เมื่อต้นปี  พ.ศ. ๒๕๕๑   ผู้ใหญ่ระดับผู้นำประเทศท่านหนึ่ง  ได้เป็นประธานในการประชุมสัมมนากับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่  และนักการเมืองระดับรัฐมนตรี  ช่วงหนึ่งท่านได้กล่าวถึงบุคคลในประวัติศาสตร์  ที่มีความเสียสละต่อชาติบ้านเมือง   ท่านได้เอ่ยถามว่า   “มีใครรู้จัก พันท้ายนรสิงห์ บ้าง”
.
ได้มีชายหนุ่มคนหนึ่งลุกขึ้นตอบว่า   “รู้จักครับ”
ท่านซักว่า  “พันท้ายนรสิงห์คือใคร    ช่วยอธิบายหน่อยซิ”
ชายหนุ่มผู้นั้นตอบอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า   “คือน้ำพริกเผาครับ
กล่าวจบมีเสียงหัวเราะอื้ออึงไปทั้งห้องประชุม
.
มีการซักรายละเอียดของผู้ตอบ   ได้ความว่าเขาเป็นทหารเกณฑ์อาสาสมัครความรู้สามัญจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖
.
ผู้ใหญ่ระดับประเทศกล่าวถึงความรู้สึกของตัวเองว่า   ท่านมีความรู้สึกหลายประการกับคำตอบ  และกลายเป็นคำถามว่า  ทำไมผู้คนส่วนหนึ่งในปัจจุบัน  จึงไม่เรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์  โดยเฉพาะประวัติศาสตร์บุคคล  ที่มีคุณความดีต่อประเทศชาติเช่น  “พันท้ายนรสิงห์”
.
ประวัติ  “พันท้ายนรสิงห์” เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่า  เขามีตำแหน่งเป็นพันท้ายเรือพระที่นั่งมีหน้าที่ถือท้ายหรือคัดท้ายเรือพระที่นั่งที่มีฝีพายจำนวนหลายสิบคน  เป็นการเสด็จทางชลมารคของพระเจ้าแผ่นดิน  ผู้เป็นพันท้ายเรือจะต้องบังคับเรือให้ไปถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย
.
ในการเสด็จทางชลมารคครั้งประวัติศาสตร์  เกิดขึ้นในแผ่นดินตอนปลายกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี  สมัยพระพุทธเจ้าเสือขึ้นครองราชย์  เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสือเสด็จทางชลมารคไปยังตำบลโคกขาม  (ปัจจุบันคือเมืองมหาชัยหรือจังหวัดสมุทรสาคร)  ตามประวัติบันทึกว่า  คลองโคกขามเป็นครองคดเขี้ยว  น้ำไหลเชี่ยวกราก  พันท้ายนรสิงห์ไม่อาจบังคับเรือให้แล่นไปอย่างปลอดภัยได้…เรือได้พุ่งชนตลิ่งจนโขนเรือพระที่นั่งหักสะบั้น
.
นักประวัตศาสตร์หลายท่านบันทึกว่า  “เป็นอุบัติเหตุ
.
นักประวัติศาสตร์หลายท่านบันทึกว่า  “เป็นเจตนาของพันท้ายนรสิงห์ที่จะพุ่งเรือชนตลิ่ง  เพื่อหยุดเรือพระที่นั่ง  เนื่องจากโค้งลำคลองข้างหน้านั้น  มีผู้ลอบปลงพระชนม์พระองค์อยู่
จะด้วยเหตุใดก็ตาม กฎมณเฑียรบาลได้ระบุว่า  “ผู้ใดทำโขนเรือพระที่นั่งหักพังมีโทษถึงประหารชีวิต
.
2
เมื่อพระเจ้าเสือขึ้นฝั่ง พันท้ายนรสิงห์ได้เข้าถวายตัวรับผิด และขอรับโทษประหารชีวิต
.
พระเจ้าเสือทรงรำลึกถึงความหลัง เมื่อครั้งเสด็จออกเยี่ยมราษฎร โดยปลอมพระองค์เป็นสามัญชนใช้นาม “นายเดื่อ” ได้พบกับนายสินในงานวัดประจำปี และได้ชกมวยกับนายสินอย่างสนุกสนาน ทรงถูกพระทัยนายสินถึงกับร่วมวงดื่มกิน ตอนหนึ่งได้ทรงตรัสถามนายสินถึงความเป็นอยู่ นายสินได้กล่าวว่า “เพลานี้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า เพราะพระเจ้าเสือให้ขุนทหารมาฉุดคร่าเด็กหญิงอายุไม่ถึงสิบขวบไปบำเรอกาม ซ้ำยังรีดไถภาษีแบบทารุณ” กับก่นด่าพระเจ้าเสืออีกหลายเรื่อง พระเจ้าเสือหรือนายเดื่อได้ถามว่า “เพลานี้ถ้าได้พบพระเจ้าเสือจะพูดอย่างใด นายสินตอบว่า “จะพูดว่าอย่างนี้” แล้วก็ชกนายเดื่อล้มหงาย พร้อมปรามาสว่า “ยังดีนะที่เอ็งชื่อเดื่อ ถ้าเอ็งชื่อพระเจ้าเสือจะโดนหนักกว่านี้” พูดจบนายสินก็ผละจากวงเลี้ยงไป
.
ข้าราชบริพารโกรธแทนพระเจ้าเสือ จะเข้าเล่นงานนายสิน แต่พระองค์ตรัสห้ามไว้ ทรงกล่าวว่า
“กูกลับชอบใจไอ้สิน เพราะทำให้รู้ว่าเหตุอันใดราษฎร์จึงเกลียดชังกู”
หลังจากนั้น ก็ให้พระยากลาโหมเชิญนายสินเข้าวัง ทรงทราบว่านายสินเป็นผู้ชำนาญทางเรือ จึงทรงแต่งตั้งนายสินเป็น “พันท้ายนรสิงห์” มีหน้าที่ถือท้ายเรือพระที่นั่งเมื่อทรงเสด็จทางชลมารค
.
เมื่อพันท้ายนรสิงห์ทูลขอรับโทษตามกฏมณเฑียรบาล พระเจ้าเสือได้ทรงยกโทษประหารให้…
.
ในตอนนี้นักประวัติศาสตร์บางท่าน ได้บันทึกว่า….พระเจ้าเสือทรงถามนายสินว่าเป็นเพราะเหตุใดแน่จึงทำให้เรือชนตลิ่ง พันท้ายเรือพระที่นั่งได้ทูลพระเจ้าเสือว่า “ข้าพระพุทธเจ้าจะกล่าวความจริงให้ทรงทราบ แต่ขอสัญญาจากพระองค์ว่า บุคคลที่ข้าพุทธเจ้าเอ่ยถึงจะต้องไม่ถูกลงโทษ เพราะข้าพุทธเจ้าเป็นเหตุ”
.
พระเจ้าเสือทรงประทานอนุญาต นายสินได้กราบทูลว่า “พระยาวิเศษไชยชาญซ่องสุมผู้คนและอาวุธ เตรียมทำร้ายพระองค์ ณ โค้งน้ำด้านหน้า ข้าพุทธเจ้าให้นวลไปเจรจาให้เวลาถึงเที่ยงวัน ถ้านวลไม่มาดักรอ ณ โค้งคลองโคกขาม หมายความว่านวลเจรจาความไม่สำเร็จ เมื่อเรือมาถึงคลองโคกขามไม่เห็นนวล ก็หมายความว่านวลทำการไม่สำเร็จ ข้าพุทธเจ้าจึงตัดสินใจหยุดเรือพระที่นั่งไว้เพียงนี้….!”
.
3
พระเจ้าเสือทรงทราบความจริงว่า พันท้ายนรสิงห์พุ่งหัวเรือชนตลิ่งก็เพื่อหยุดเรือพระที่นั่งไว้เพียงนี้ พระองค์ตรัสกับพันท้ายนรสิงห์ว่า
.
“ไอ้สิน มึงทำความดีมากมายนัก แทนที่มึงจะรับโทษประหาร กูกลับจะปูนบำเหน็จมึงให้เป็นพระยานาหมื่น”
.
สินหรือพันท้ายนรสิงห์กราบทูลพระองค์ว่า “เรื่องความดีนั้นเป็นส่วนของความดี แต่ส่วนของความผิดคือความผิด ข้าพุทธเจ้าขับเรือชนตลิ่งจนโขนเรือพระที่นั่งหักพัง ตามกฎมณเฑียรบาลระบุไว้ถึงประหารชีวิตด้วยการบั่นคอ ข้าพุทธเจ้าจึงขอรับโทษโดยมิมีข้อยกเว้น”
.
พระเจ้าเสือทรงครุ่นคิด แล้วหาทางออกให้พันท้ายนรสิงห์โดยจะให้พระยากลาโหมปั้นดินเหนียวรูปพันท้ายนรสิงห์ แล้วให้ตัดคอรูปปั้นดินเหนียวแทนตัวจริง แต่พันท้ายนรสิงห์ยืนกรานขอรับโทษประหาร โดยให้เหตุผลว่า “ถ้าพระองค์ยกเว้นโทษให้ข้าพุทธเจ้าภายหน้าหากมีผู้ประพฤติผิด ก็จะขอให้พระองค์ยกโทษ โดยเอ่ยนามข้าพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง ดังนั้นกฎมณเฑียรบาลก็จะไม่ศักดิ์สิทธิ์
.
พระเจ้าเสือทรงตรัสว่า “ไอ้สิน กูฆ่ามึงไม่ได้ ก็รักมึงเกินกว่าที่กูจักฆ่ามึง”
“ถ้ากฎมณเฑียรบาลไม่ศักดิ์สิทธิ์ ความชั่วจักเกิดแก่ข้าพุทธเจ้า ดังนั้น ข้าพุทธเจ้าจึงขอยืนยันกับพระองค์ว่า เกียรติศักดิ์รักยิ่งกว่าตัว ยอมเสียหัวไม่ยอมเสียวินัย”
.
พระเจ้าเสือจำยอมพระทัยสั่งให้ประหารพันท้ายนรสิงห์ แล้วให้พระยากลาโหมตั้งศาลเพียงตา เอาศีรษะพันท้ายนรสิงห์ตั้งไว้บนศาล พร้อมทั้งโขนเรือพระที่นั่งเป็นการประกาศความดีของนายสิน
พระเจ้าเสือทรงประกาศความจงรักภักดีของพันท้ายนรสิงห์ต่อหน้าขุนทหารและข้าราชบริพารว่า
.
“กูขอยกย่องไอ้สิน เป็นเทพเจ้าแห่งความเสียสละแห่งอโยธยา และกูหวังว่าจะมีคนเยี่ยงไอ้สินอีกมากมายบนแผ่นดินนี้”
ทุกวันนี้ ศาลเพียงตาพันท้ายนรสิงห์ยังปรากฎอยู่ ณ บริเวณนั้น ปัจจุบันได้กลายเป็นวัด ชื่อวัดพันท้ายนรสิงห์ปรากฏอยู่ ณ ตำบลโคกขาม อำเภอเมืองสมุทรสาคร หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เมืองมหาชัย
.
4
“พันท้ายนรสิงห์” เป็นบุคคลเดียวในโลกที่กล้ายอมสละชีวิตเพื่อรักษากฎมณเฑียรบาล หรือกฎหมายที่ตราไว้อย่างเคร่งครัด เป็นที่เลื่องลือไม่เฉพาะในสยามประเทศ แต่แพร่หลายไปทั่วจักรวาล
.
ผมเองเคยชมละครเวทีพันท้ายนรสิงห์มาแล้วหลายครั้ง ได้ชมภาพยนตร์ไทยที่สร้างโดยหลายบริษัท ทั้งหนัง ๑๖ ม.ม., ๓๕ ม.ส.สโคป, ๓๕ ม.ม. ท์สกรีน (ไวท์สกรีนเป็นตหนังจอมาตรฐานโลก ที่ฉายกันอยู่ในปัจจุบัน)
ไม่ว่าละครเวที หรือภาพยนตร์ ผมอดร้องไห้ไปกับเรื่องราวที่กำหนดขึ้นมิได้ การร้องไห้มิได้หมายถึงเศร้าเสียใจที่พระเอกในเรื่องตาย แต่ทว่าเป็นการร้องไห้แบบประทับใจในความเสียสละของพันท้ายนรสิงห์ ที่ตั้งแต่มีมนุษยชาติเกิดขึ้นมา ยังมิมีผู้ใดที่เป็นผู้กล้าเยี่ยงพันท้ายนรสิงห์เลย
.
เมื่อผมก้าวเข้าสู่โลกบันเทิง และมีเพื่อนฝูง มีผู้ให้การสนับสนุนมากพอ จึงได้จัดแสดงละครเวทีขึ้นครั้งแรก ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งช่วงนั้น คุณปรีชา กันธิยะ เป็นเลขาธิการ
.
ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดนครพนม,นครราชสีมา,อ่างทอง,ปทุมธานี แม้กระทั่งสัญจรไปที่จังหวัดนราธิวาส แสดงที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ก็มีพี่น้องชาวใต้เข้าไปชมมากถึง ๓ หมื่นคน
.
ปลายปี ๒๕๕๒ ผมได้ประกาศยุติการแสดงไว้ชั่วคราว เนื่องจากเหน็ดเหนื่อยเสียเหลือเกิน และงบสนับสนุนของทางราชการหมดลง จนกระทั่งมาถึงปัจจุบัน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบบลากตั้ง(พวกมากลากไป สร้างความวุ่นวายไปทั่วบ้านทั่วเมือง) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ต้องการปลูกฝังความรักชาติ รักเทิดทูนองค์มหากษัตริย์ ซึงตรงกับแนวคิดของผม ผมจึงได้รวบรวมสมัครพรรคพวก จัดการแสดงละคร “พันท้ายนรสิงห์” ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
.
โดย อ.ไพจิตร ศุภวารี