Daily Mirror

สร้างสรรค์มุมมอง
อย่างรอบด้าน
เห็นมิติที่กว้างกว่า

รำลึกถึงสองนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ ผู้จูงมือกันไปในเดือนมีนาคม ๒๕๕๒

ย้อนอดีตไปเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๒ หกปีที่แล้ว เพียงสองสัปดาห์แรกของเดือน “โลกหนังสือ” ใบนี้ต้องบันทึกไว้ในจิตและวิญญานว่า เป็นเดือนแห่งความสูญเสีย เดือนแห่งความอาลัย สองนักเขียนไทยที่ควรได้รับการจารึกและยกย่องเชิดชูไว้ในระดับโลก

นเรศ นโรปกรณ์ (เจ้าตำนาน “สาวเอยจะบอกให้”) ’รงค์ วงษ์สวรรค์ (ศิลปินแห่งชาติ ปี ๒๕๕๓)
.
ย้อนอดีตไปเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๒ หกปีที่แล้ว เพียงสองสัปดาห์แรกของเดือน “โลกหนังสือ” ใบนี้ต้องบันทึกไว้ในจิตและวิญญานว่า เป็นเดือนแห่งความสูญเสีย เดือนแห่งความอาลัย สองนักเขียนไทยที่ควรได้รับการจารึกและยกย่องเชิดชูไว้ในระดับโลก แม้ต้องจากไปตามกาลเวลา แต่ทั้งสองท่านต่างได้บรรจงวางอัญมณีที่งดงามประดับไว้ในโลกหนังสือสืบต่อไป
.
นเรศ นโรปกรณ์
กับ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นพี่น้องร่วมสายวรรณศิลป์ มีอายุไล่เลี่ยกัน ห่างกัน ๓ ปี นเรศ เป็นพี่ ณรงค์ เป็นน้อง แม้ช่วงชีวิตในการศึกษาจะแตกต่างกัน นเรศ เรียนจนสำเร็จได้รับปริญญา ขณะที่ ณรงค์ เรียนไม่จบ ทว่าทั้งสองต่างสอบผ่าน สถาบันสยามรัฐ จนสำเร็จได้รับปริญญาชีวิตอันยิ่งใหญ่ ในสมัยที่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นครูใหญ่
.
หนังสือพิมพ์สยามรัฐ เป็นสถาบันที่ผลิตบัณฑิตทางวิชาชีพที่สำเร็จออกมาเป็น นักข่าว นักเขียน ศิลปิน ประดับไว้ในโลกามากมาย ศิษย์ของมหาวิทยาลัยชีวิตเหล่านี้ ต่างก็ก้าวสู่ความสำเร็จยิ่งๆ ขึ้น เช่น นเรศ นโรปกรณ์ และ รงค์ วงษ์สวรรค์
.
นเรศ นโรปกรณ์
เป็นคนอีสาน เกิดที่สุรินทร์ ชื่อเดิมคือ สิงห์ชัย บังคนารา จบปริญญาตรีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สอบเข้าครั้งแรกในคณะนิติศาสตร์ ปี ๒๔๙๓ พอเรียนอยู่ปี ๓ ถูกจับในคดีกบฏสันติภาพ ร่วมคัดค้านการส่งทหารไทยไปรบในสงครามเกาหลี เลยถูกออกจากมหาวิทยาลัย แต่ก็กลับเข้าไปเรียนใหม่ในพ.ศ. ๒๕๑๐ จนจบในคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน
.
ศิษย์ร่วมสำนักกบฏสันติภาพที่ถูกจับขัง ล้วนเป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ รวม ๑๐๔ ชีวิต นำขบวนโดย กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา), มารุต บุนนาค, เปลื้อง วรรณศรี เป็นต้น
.
นเรศ นโรปกรณ์
จากไปเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๒ ด้วยโรคปอดอักเสบในวัย ๘๐ ปี ฝากผลงานที่ยิ่งใหญ่ทั้งบทกวี บทความที่ต่อต้านการเมือง และหนังสือที่รวมคอลัมน์ประจำจากสยามรัฐรายวัน ขายดีมากจนต้องออกมาพิมพ์เองขายเอง ตั้งสำนักพิมพ์เอง และสร้างชื่อประดับไว้บนโลกหนังสือต่อเนื่องอยู่หลายปี โดยเฉพาะหนังสือชุด “สาวเอยจะบอกให้” กับบางบทกวีที่แฝงไว้ด้วยแนวคิดดีๆ อีกมากมาย เช่น
.
เพียงหวังจะเฟื่องฟุ้ง     หรือจึงมุ่งมาศีกษา
เพียงเพื่อปริญญา         เอาตัวรอดเท่านั้นฤๅ
แท้ควรสหายคิด           และตั้งจิตร่วมยึดถือ
รับใช้ประชาคือ            ปลายทางที่เล่าเรียน             
“พญาอินทรีรงค์ วงษ์สวรรค์”
.
สำหรับอีกหนึ่งผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ได้รับการเชิดชูให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี ๒๕๓๘ แม้จะไม่ประสบความสำเร็จในรั้วโรงเรียน แต่กลับโดดเด่นรอบจักรวาล ด้วยชีวิตที่ทรหดในวัยหนุ่ม เป็นทั้งนายท้ายเรือโยง คุมปางไม้ที่เชียงใหม่ เล่นหนัง ภายหลังสนใจถ่ายภาพ ศึกษาจนได้เป็นตากล้องนิตยสารเครือพิมพ์ไทย เริ่มมีชื่อเสียง ฉายแววเมื่อเข้าไปประจำที่สยามรัฐ เขียนคอลัมน์ รำพึงรำพัน ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ใช้นามปากกาว่า “ลำพู” เมื่อพ.ศ.๒๔๙๗
.
รงค์ วงษ์สวรรค์
เกิดที่ชัยนาท เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๔๗๕ ผลงานเขียนเริ่มความเป็น “นายของภาษา” ตั้งแต่ยุคแรก จนอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เรียกว่า นักเขียนสำนวนเพรียวลม งานเขียนทุกชิ้นมีสำนวนภาษาที่เป็นเอกลักษณ์และมีลีลาที่งดงาม ยากที่จะหาใครเลียนแบบได้ รวมทั้งการเดินเรื่องที่กระชับไม่อืดอาด ถือเป็นแนวการเขียนรูปแบบใหม่ในสมัยนั้น
.
งานเขียนของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ มีทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี รวมทั้งเคยทำพ็อคเก็ตบุ๊คส์รายเดือน โดยเปลี่ยนชื่อตามเดือนที่ออกวางจำหน่าย ผลงานที่พิมพ์เป็นเล่มแรกในปี ๒๕๐๓ คือ หนาวผู้หญิง สะท้านวงการทั้งชื่อหนังสือและยอดจำหน่ายในยุคนั้น จากนั้นก็ตามติดออกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ เถ้าอารมณ์ สนิมสร้อย บางลำพูสแควร์ ใต้ถุนป่าคอนกรีต ไฉไลคลาสสิก สนิมกรุงเทพฯ ผู้ดีน้ำครำ หอมดอกประดวน นาทีสุดท้าย เสเพลบอยชาวไร่ ฯลฯ
.
โดยเฉพาะ เสเพลบอยชาวไร่ ถือว่าเป็นนิยายลูกทุ่งคลาสสิก และในปี ๒๕๕๘ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ประกาศเกียรติคุณให้เป็น หนึ่งในนักเขียนเรื่องสั้นดีเด่นของไทย ในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีเรื่องสั้นไทย โดยทางสมาคมได้นำตอนที่ชื่อว่า “แจ้ง ใบตอง ผู้ยิ่งยงแห่งสวนกล้วย” อันเป็นส่วนหนึ่งของ เสเพลบอยชาวไร่ ไปพิมพ์ในโอกาสดังกล่าว
.
เสเพลบอยชาวไร่
พิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๑๒ จำนวนพิมพ์มากถึง ๑๒,๐๐๐ เล่ม มีศิลปินระดับชาติ ช่วง มูลพินิจ วาดภาพประกอบทุกตอน และพิมพ์ครั้งที่สองโดยสำนักพิมพ์ดวงกมล เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๒๓ จำนวนพิมพ์ ๓,๖๐๐ เล่ม สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการสำนักพิมพ์ดวงกมลขณะนั้น มอบหมายให้ผมเขียนภาพประกอบ
.
รงค์ วงษ์สวรรค์ เขียนหนังสือจนวาระสุดท้าย แม้ร่างกายจะถูกลิดรอนจากโรคภัย แต่ก็สร้างผลงานลง มติชนสุดสัปดาห์ ในรูปแบบสารคดีที่คงเอกลักษณ์การนำเสนอด้วย “ความเป็นนายของภาษา” อย่างมั่นคง
.
ช่วงบั้นปลายชีวิต ได้กลับสู่ธรรมชาติในอ้อมอกของขุนเขา ณ สวนทูนอิน เชียงใหม่ เหมือนกับชีวิตได้เวลาพักผ่อน ลมหายใจของผู้ยิ่งยงแห่งสวนทูนอิน แผ่วเบาลง เบาลง กระทั่งสงบนิ่งเมื่อเวลา ๑๘.๐๕ น.วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๒ ด้วยวัย ๗๗ ปี เหลือไว้เพียงผลงานเท่านั้นที่ยังคงโลดแล่นอย่างมีชีวิตชีวาตลอดไป
.
ขอคารวะต่อดวงวิญญาณของสองผู้ยิ่งใหญ่ 
นเรศ นโรปกรณ์ และ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ (ศิลปินแห่งชาติ)

[ngg_images source=”galleries” container_ids=”617″ display_type=”photocrati-nextgen_basic_thumbnails” override_thumbnail_settings=”0″ thumbnail_width=”240″ thumbnail_height=”160″ thumbnail_crop=”1″ images_per_page=”20″ number_of_columns=”0″ ajax_pagination=”0″ show_all_in_lightbox=”0″ use_imagebrowser_effect=”0″ show_slideshow_link=”1″ slideshow_link_text=”[Show slideshow]” order_by=”sortorder” order_direction=”ASC” returns=”included” maximum_entity_count=”500″]