เสวนาวิชาการ งานวันฉลองรัฐธรรมนูญ ประจำปี 2566 “ร่วมก้าวย่างบนเส้นทางประชาธิปไตย สู่เส้นชัยแห่งรัฐธรรมนูญ”

10 ธ.ค. 66 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมสัมมนา B1 – 2 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมการเสวนาวิชาการ งานวันฉลองรัฐธรรมนูญ ประจำปี 2566 “ร่วมก้าวย่างบนเส้นทางประชาธิปไตย สู่เส้นชัย แห่งรัฐธรรมนูญ”

10 ธ.ค. 66 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมสัมมนา B1 – 2 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมการเสวนาวิชาการ งานวันฉลองรัฐธรรมนูญ ประจำปี 2566 “ร่วมก้าวย่างบนเส้นทางประชาธิปไตย สู่เส้นชัย แห่งรัฐธรรมนูญ” โดยมี นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานวันรัฐธรรมนูญ ประจำปี 2566 กล่าวรายงาน ทั้งนี้ นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตประธานรัฐสภา ศ.พิเศษนรนิติ เศรษฐบุตร อดีตนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ รศ.ดร.โภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภาและอดีตรองนายกรัฐมนตรี ส. ศิวรักษ์ นักวิชาการอิสระ นายปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ ทายาท ศ.ดร.ปรีดี พยมยงค์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการฝ่ายการเมือง คณะผู้บริหารสำนักงาน เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และแขกผู้มีเกียรติร่วมพิธี

โอกาสนี้ ประธานรัฐสภา กล่าวว่า วันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันที่ทางราชการ กำหนดให้เป็นวันที่ระลึกถึงวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เพื่อเป็นกฎหมายสูงสุดเป็นหลักในการปกครองประเทศ และเป็นฉบับถาวร เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 เราเรียกวันนี้ว่า “วันรัฐธรรมนูญ” โดยวันรัฐธรรมนูญ ไม่เพียงเป็นวันหยุดราชการ เพื่อระลึกถึงวันสำคัญทางการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์การปกครองของราชอาณาจักรสยามเท่านั้น ยังมีจุดประสงค์เพื่อให้ชนในชาติได้ระลึก ตระหนักถึงความเป็นเอกราชของรัฐ ภายใต้การปกครองอิสระที่มีกฎ มีเกณฑ์ เคารพ สิทธิ หน้าที่ และเสรีภาพของบุคคล และความเป็นธรรมของมนุษยชาติ ตลอดจนการใช้อำนาจในการดำเนินกิจการต่าง ๆ อย่างสมดุลแก่กันและกันด้วย ซึ่งเป็นเจตนารมณ์หลักของรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย ข้อเท็จจริง คือ ตั้งแต่ปี 2475 ถึงปัจจุบัน ประเทศเราไม่ได้มีรัฐธรรมนูญฉบับเดียวเป็นฉบับถาวร แต่ประเทศไทยมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ได้ประกาศใช้แล้ว แล้วร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ประกาศใช้ใหม่หลายครั้ง หลายคราว เป็นปรากฏการณ์สะท้อนถึงการแย่งชิงอำนาจ สลายอำนาจ และสืบทอดอำนาจ นัยสำคัญ คือ การเลิกรัฐธรรมนูญ มักเกิดขึ้นจากการกระทำปฏิวัติรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครอง ยกเลิกสภา แล้วจัดการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ในนามคณะของตน จัดตั้งรัฐบาลของตน สภาของตน เพื่อดำรงอำนาจบริหารประเทศ เหตุจากการเลิก หรือฉีกรัฐธรรมนูญ ยึดอำนาจการปกครองบ่อยครั้ง ทำให้ศักดิ์ศรี ความเชื่อมั่น ความศรัทธาต่อรัฐธรรมนูญ และต่อระบบรัฐสภาได้เสื่อมถอยอย่างน่าเสียดาย ศักดิ์ และอำนาจของหัวหน้าคณะปฏิวัติบางครั้งจะสูงกว่ารัฐธรรมนูญ จึงเห็นว่าวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม นอกจากเป็นวันรำลึกถึงเจตนารมณ์แห่งการโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้ว จะเป็นวันที่ต้องไว้อาลัยการสูญเสียศักดิ์ศรีของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอีกด้วย

อีกประเด็นหนึ่ง ในมาตรา 3 อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา บริหาร ทางคณะรัฐมนตรี ตุลาการทางศาล ซึ่งหมายถึงเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของประเทศ มี 3 องค์กร คือ รัฐสภา รัฐบาล และศาล รัฐสภาโดยหลักการต้องเป็นองค์กรของสมาชิกอันเป็นตัวแทนของประชาชน เป็นสถาบันทางการเมืองหลักของประเทศ รัฐสภา มีหน้าที่กำหนด ออกกฎเกณฑ์ กฎหมายให้ประชาชนใช้ร่วมกัน ให้รัฐบาลนำไปบริหารประเทศ และศาลใช้เป็นหลักเกณฑ์พิจารณาตัดสินคดี แต่ข้อเท็จจริงแล้ว กฎหมายที่ผ่านมาจึงมักเป็นการเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ มากกว่าพิทักษ์อำนาจของประชาชน เชื่อว่านี่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ความยากจน หนี้สิน และปัญหาสังคม ยาเสพติด และอื่น ๆ ตามมา หรือแม้แต่การตีความให้ความเห็นข้อกฎหมาย เพื่อใช้ประกอบการอ้างอิง ยังต้องใช้คณะกรรมการกฤษฎีกา หรือใช้ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นองค์กรที่รัฐบาลเป็นฝ่ายจัดตั้งขึ้น ไม่ทางตรงก็โดยทางอ้อม มิได้ใช้องค์กรของรัฐสภาที่เป็นฝ่ายผลิตกฎหมาย

วันนี้เป็นวันรัฐธรรมนูญ นอกจากจะเป็นวันรำลึกถึงรัฐธรรมนูญ หรือวันอาลัยรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้ว ควรจะเป็นวันรำลึกถึงความสำคัญของรัฐสภาอีกด้วย เพราะรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยย่อมคู่กับศักดิ์และเกียรติการดำรงอยู่ของรัฐสภาเสมอ สถานะทางการเมืองรัฐสภาปัจจุบันยังดำรงอยู่ประหนึ่งว่าเป็นส่วนราชการหนึ่งของรัฐบาล ต้องใช้งบประมาณตามที่รัฐบาลกำหนด ใช้ระบบระเบียบอ้างอิงของรัฐบาล รัฐสภาอยู่ในสภาพเป็นสภาของส่วนราชการมากกว่าเป็นสภาขององค์กรสมาชิก หรือของประชาชน จึงเห็นว่าวันนี้น่าจะ เป็นวันที่เราต้องช่วยกันคิดว่า ถึงเวลาที่จะสถาปนารัฐสภาให้เป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนไทย ที่มีศักดิ์ศรี มีภารกิจที่สร้างความสมดุลระหว่างองค์กรอำนาจ พิทักษ์รับรองสิทธิเสรีภาพของบุคคล องค์การทางการเมืองของประชาชน และดำรงความยุติธรรม ภายใต้หลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถึงเวลาจะต้องแก้ไข ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารของรัฐสภา เปลี่ยนแปลงกฎ ระเบียบ ข้อบังคับกันใหม่ รวมทั้งแก้ไขรัฐธรรมนูญให้คุ้มครองความเสมอภาคแห่งสังคมพหุวัฒนธรรมให้มากยิ่งขึ้น โดยปราศจากความขัดแย้ง แบ่งแยก และสุดท้ายสำหรับวันนี้ มีอีกกรณีหนึ่งที่ควรรำลึกถึง คือ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ที่ขัด หรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญบทบัญญัตินั้น หรือการกระทำนั้น เป็นอันใช้บังคับไม่ได้ แต่ข้อสงสัยที่ควรระลึกถึง มีอยู่ว่าโดยหลักการแล้ว การใช้อำนาจด้วยกำลังอาวุธ ปืน ทำการปฏิวัติรัฐประหาร กำหนดกฎเกณฑ์ บังคับใช้กับประชาชนก็ดี การใช้อำนาจตัดสินคดี โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม ศาล ก็ดี เป็นสิ่งที่ละเมิดวัฒนธรรม จริยธรรม และรัฐธรรมนูญระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น แต่การกระทำด้วยวิธีการเหล่านี้ ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งจนเคยชิน กลายเป็นวัฒนธรรม การปกครองของไทย โดยไม่มีความผิดใด ๆ ข้อกังขาและการกระทำดังกล่าวนี้เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ที่ทำให้รัฐธรรมนูญไร้ศักดิ์ศรี รัฐสภาไทยไร้เกียรติ อำนาจของประชาชนถดถอย วัฒนธรรม จริยธรรม แห่งระบอบประชาธิปไตยถูกละเลย รัฐธรรมนูญเป็นเพียงกระดาษ เท่ากับว่าอำนาจอธิปไตยของประชาชนไม่ได้มีอยู่จริง

วันที่ 10 ธันวาคม ปีนี้ ขอให้เป็นวันรัฐธรรมนูญแห่งความหวังใหม่ ของประชาชนและของเราทุกคน เป็นวันสถาปนาระบบรัฐสภาให้เป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชน และระบอบประชาธิปไตยของประเทศ ที่จะต้องช่วยพิทักษ์สิทธิความเป็นมนุษยชาติ เป็นวันสันติภาพ อิสรภาพ เสรีภาพของการอยู่ร่วมกัน หวังว่าการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ จะช่วยลดบรรยากาศของความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนกับประชาชนด้วยกัน โดยให้กลไกของระบบรัฐสภาให้มีภารกิจคุ้มครองสิทธิของประชาชนอย่างสมดุลระหว่างอำนาจรัฐกับประชาชน สามารถพัฒนาอำนาจอธิปไตยของประชาชน ไม่ตกอยู่ในอำนาจของคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดโดยเฉพาะ ตามพระประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประทานไว้ก่อนที่ท่านจะสละราชสมบัติ ทั้งนี้ คำกล่าวของตนในวันนี้ ไม่ใช่ข้อยุติ แต่เป็นการเสนอความคิดของบุคคลหนึ่ง เพื่อเชิญชวนให้ท่านทั้งหลายได้พูด คิด และถกเถียงกันต่อไป และขอขอบคุณทุกท่าน ทุกฝ่าย ที่ร่วมจัดงาน ร่วมเป็นเกียรติ ร่วมกิจกรรมทุก ๆ ด้าน ในนามของรัฐสภาขอต้อนรับทุกท่านด้วยความยินดี ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งของรัฐสภา และขอเปิดงานวันรัฐธรรมนูญ ณ บัดนี้

สำหรับการจัดงานวันรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐสภาได้จัดขึ้น และเป็นการรื้อฟื้นการจัดงานเฉลิมฉลองวันรัฐธรรมนูญขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่ไม่มีการจัดมาตั้งแต่ ปี 2500 เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และให้ประชาชนเกิดความภาคภูมิใจในรัฐธรรมนูญ และตระหนักถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญ ในฐานะที่เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ รวมถึงการจัดงานในครั้งนี้ ยังมุ่งส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยมีการเปิดใช้พื้นที่ ณ ลานประชาชน เป็นครั้งแรกในวันนี้ เพื่อให้ประชาชนทุกคนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย ได้เข้ามาใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้รัฐสภายึดโยงกับประชาชน และเป็นการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการเมืองไทยในระบบรัฐสภา ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกภาคส่วน และร่วมกันพัฒนาการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นอกจากนั้นแล้วการจัดงานในวันนี้ถือเป็นก้าวย่างของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งวันที่ 10 ธันวาคม นอกจากจะเป็นวันรัฐธรรมนูญของคนไทยแล้ว ยังเป็นอีกวันที่มีความสำคัญ คือ “วันสิทธิมนุษยชนสากล” ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่า “มนุษย์ทั้งปวง เกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรี และสิทธิต่างในตนมีเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยจิตวิญญาณแห่งภราดรภาพ” อันสอดคล้องกับรากฐานแนวคิดของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติ และรับรองไว้เช่นเดียวกัน สำหรับกิจกรรมภายในงานวันรัฐธรรมนูญประจำปี 2566 มีต้นแบบจากการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองวันรัฐธรรมนูญในอดีต โดยประกอบด้วย กิจกรรมการเสวนาทางวิชาการ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และพัฒนาการของรัฐธรรมนูญ การเสวนาว่าด้วยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การจัดแสดงนิทรรศการทางวิชาการ การแสดงดนตรี การออกร้านจำหน่ายสินค้า การออกบูทขององค์กรภาคีเครือข่าย และการประกวดภาพวาดภาพถ่ายในหัวข้อ “รัฐสภาในมุมมองของประชาชน”

#รัฐธรรมนูญ #ประชาธิปไตย #เสวนาวิชาการ