Daily Mirror

สร้างสรรค์มุมมอง
อย่างรอบด้าน
เห็นมิติที่กว้างกว่า

เปิดโลกธุรกิจ คิดได้ขายเป็น “บ้านน้ำพริกข้าวสวย” ตำนานชีวิตที่ลิขิตเอง !

ด้วยอาชีพการเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องการตลาดออนไลน์  และหน้าที่ รับให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการ SMEs ผมมักจะอธิบายถึงความสำคัญในการบอกเล่าเรื่องราว (Story) ของธุรกิจ หรือเนื้อหา (Contents) ว่า จะทำให้เราแตกต่างจากคู่แข่ง และทำให้ “กลุ่มเป้าหมาย” เข้าใจ “คุณค่า”ของสินค้า มากยิ่งขึ้น
.
ดังนั้น ระหว่างการสอนวิธีสร้างเว็บไซต์ ผมจะให้ผู้อบรม ลองร่างเนื้อหา ที่จะลงเผยแพร่มาให้ตรวจก่อน เพื่อดู”คุณภาพ” ว่า เหมาะสม หรือไม่ เพราะการสร้างเว็บยุคนี้ไม่ยากแล้ว เพียงแต่คลิกปุ่ม ทำตามขั้นตอน ระบบก็สามารถอัพโหลดข้อมูลไปสู่สายตาของคนทั้งโลกได้  ปัญหาคือ เมื่อ ประชาสัมพันธ์ออกไปแล้ว พอคนเข้ามาในเว็บไซต์ พบข้อมูลที่ไม่น่าสนใจ…สิ่งที่ทำมาทั้งหมด ก็จะกลายเป็นเรื่องสูญเปล่า..เพราะดูแล้วไม่สนใจ…การสร้างรายได้ก็ไม่เกิด
.
ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ผลิตสินค้าจะไม่ค่อยสันทัดเรื่องการเล่าความเป็นมาของกิจการ โดยเฉพาะถ้าให้ต้องพิมพ์สื่อสารด้วยแล้วยิ่งกลายเป็นเรื่องยาก สอนเสร็จส่วนใหญ่จึงเอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า นานๆ ผมจึงจะเห็นเจ้าของกิจการเล่าความเป็นมาได้อย่างน่าสนใจ จนคิดว่ามีโอกาสต้องไปใช้บริการของเขาแน่นอน
.
สิริลักษณ์ พงษ์เจริญ หรือ  “น้องทราย” เป็นผู้เข้าอบรมโครงการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพาจัดขึ้น เมื่อเดือนที่แล้ว ผมมีโอกาสไปบรรยายเรื่อง การตลาดดิจิทัล สอนให้รู้จักใช้เครื่องมือบนอินเทอร์เน็ต เพื่อทำประโยชน์กับธุรกิจ ในฐานะที่เธอประสบความสำเร็จในการทำ เฟซบุ๊คเพจ มีผู้กดไล้ท์ ติดตามกิจการเป็นจำนวนมาก จึงขอให้เธอขึ้นมาเป็นผู้อธิบายถึงแนวทาง พร้อมกำชับว่า ลองส่งเรื่องความเป็นมาของธุรกิจน้ำพริกที่เธอทำมา เผื่อผมจะช่วยเผยแพร่ให้.. ปรากฏว่าไม่เกินสองสัปดาห์เธอก็ส่งมาให้จำนวน 8 หน้า !..
.
ผมอ่านแล้ว รู้สึกได้เลยว่า เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ประกอบการไทย ที่ถึงแม้จะต้องเผชิญกับข้อจำกัดในชีวิตมากมาย ไม่ว่า ครอบครัวที่พ่อแม่ แยกกันอยู่ ปัญหาหนี้สิน จนกระทัง เมื่อคนรักตนขอแยกทาง เธอถึงกลับตัดสินใจฆ่าตัวตาย แม่ต้องนำส่งโรงพยาบาล เมื่อฟื้นขึ้นมาแล้วพบว่า แม่ซึ่งป่วยหนักกว่ายังขยันอดทนต่อสู้ชีวิตด้วยความเข้มแข็ง เธอจึงตั้งต้นชีวิตใหม่ ลาออกจากงานประจำเงินเดือนสูง กลับบ้านเกิดมาช่วยแม่ทำธุรกิจเพื่อหวังจะทดแทนบุญคุณ โดยที่ไม่มีความรู้เรื่องอาหารเหล่านี้เลย…
.
อยากให้อ่านสำนวนของเธอเอง…เพราะจะสัมผัสได้ถึงหยาดเหงื่อความอุตสาหะที่เธอฟันผ่า..(ขอตัดตอนมาช่วงเริ่มต้นธุรกิจเลยครับ และเรียบเรียงบางส่วนเพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่.)
.
…เมื่อกลับมาแล้ว บททดสอบก็ไม่ง่ายอย่างที่คาดไว้ หนูทำน้ำพริกเสียไปหลายกระทะ นึกถึงตอนนั้นแล้วอดขำตัวเองไม่ได้จริงๆ ทำอาหารไหม้ไปเยอะเลย ข้าวของเครื่องใช้ในครัวก็ทำเสียหายหักพังจนต้องไปซื้อมาใหม่หลายเที่ยว แม่ยังพูดติดตลกว่าเราเก่งนะ แม่ใช้มาตั้งนานไม่มีโอกาสเปลี่ยนของใหม่ เราช่วยไม่เท่าไหร่ได้ซื้อของใหม่มาใช้เลย ช่วงนั้นได้แต่คิดว่ากำลังฝึกงานโดยไม่ได้ตังค์แถมต้องควักกระเป๋าจ่ายไปเพื่อซื้อทั้งวัตถุดิบและข้าวของที่เราทำเสียหาย บางครั้งความคิดหนึ่งก็แวบเข้ามาในหัวเหมือนกันว่า ตอนเด็กๆ เห็นแม่ทำกับข้าวก็ดูง่ายดี ไม่เห็นยากเหมือนตอนลงมือทำเลย คงเพราะคิดอย่างนั้น ถึงเชื่อว่าเราต้องทำได้แน่ ตอนนั้นความคิดเชิงลบไม่รู้หายไปไหนหมด อยากทำอาหารเป็นเหมือนแม่ อยากทำให้พ่อแม่สบายใจและยิ้มได้  อีกเรื่องหนึ่งที่ตั้งใจจะทำให้เพื่อนร่วมรุ่นเห็นก็คือการตัดสินใจกลับมาช่วยแม่เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องโดยให้ความสำคัญกับการทดแทนคุณพ่อแม่เป็นหลัก และการกระทำเช่นนั้นจะส่งเสริมให้เราลืมตาอ้าปากได้แม้จะเริ่มจากทำอะไรไม่เป็นเลยก็ตาม
.
ตอนเริ่มทำน้ำพริกไปลองวางขายในตลาดตามแหล่งต่างๆ นั้น ก็ยังเจอกับปัญหาการต่อว่าจากร้านค้า..“ลูกค้าจะมั่นใจได้อย่างไรว่าน้ำพริกของเธออร่อยจริงๆ น้ำพริกที่วางขายตรงนี้เขามีมาตรฐานรับรองทั้งนั้นเลย”
.
“จะว่าไปแล้ว ลูกค้าร้านฉันชอบเลือกซื้อแต่ของอร่อย ของดีมีมาตรฐานจริงๆ ลูกค้าคนไหนจะกล้าหยิบสินค้าของเธอกับแม่ ฉันเห็นแล้วยังหวั่นใจว่ากินแล้วจะเป็นอะไรมั้ย แล้วลูกค้าจะไม่คิดมากกว่าฉันหรือ”
.
“ขอโทษนะ ร้านเรารับแต่สินค้ามีคุณภาพเท่านั้น เราคงไม่กล้ารับของเธอมาขายแล้วต้องเสี่ยงกับการเสียชื่อเสียยี่ห้อร้านเราหรอกนะ”
.
หลากหลายคำพูดเชิงติติงในทางลบ บางครั้งพอหันหลังเดินออกจากร้านแล้วเราสองคนแม่ลูกก็จูงมือกันร้องไห้เดินข้ามถนนซึ่งเป็นภาพที่ติดตาจนถึงทุกวันนี้
.
ด้วยความด้อยประสบการณ์ ความรู้สึกยามถูกติติงจึงเปราะบาง คิดแต่ว่าเขาดูถูกเรา แต่คำพูดของแม่ช่วยให้เราได้คิด พอตัดพ้อกับแม่ๆ กลับถามว่า “จำคุณป้าร้านนั้นได้มั้ย แกบอกว่าของอร่อยจะขายได้ก็ต้องทำให้หน้าตาดูดี ของที่บรรจุข้างในอาจจะอร่อยแต่ภาชนะที่ใส่ก็ต้องกระตุ้นให้คนอยากลองกินด้วยนะ หนูอย่าไปจำแต่ที่เขาตำหนิแล้วก็ได้แต่เสียใจซิลูก คิดเสียว่าเขาติเพื่อเราจะได้ทำให้ดีขึ้น” จากที่ใจตกวูบแทบยกธงขาวก็กลับมีกำลังใจแล้วด้วยความที่เชื่อสนิทใจว่าน้ำพริกฝีมือแม่ไม่เป็นสองรองใครเราจึงน่าจะปรับปรุงตำรับเดิมที่แม่ภูมิใจให้เป็นที่ยอมรับในตลาดน้ำพริกได้ถึงแม้ว่าตอนนั้นเราจะทำน้ำพริกเป็นแค่รสชาติเดียวก็ตาม ตั้งแต่นั้นมาแม่ก็คอยให้กำลังใจว่าน้ำพริกสูตรเดียวถ้าทำอร่อยๆ ลูกแม่ไม่อดตาย ลูกแม่ไม่ต้องไปขอใครกิน เลี้ยงปากท้องตัวเองได้ แม่ก็ชื่นใจที่สุดแล้ว
.
ช่วงที่ถูกปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำอีกเมื่อนำน้ำพริกไปเสนอขายก็มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเมตตาแนะนำให้ไปพบคุณอุกฤษฏ์ วงษ์ทองสาลี (คุณต่อ เจ้าของร้านจันทรโภชนาสาขาใหม่) ตอนนั้นเป็นช่วงที่คุณต่อว่างให้เข้าพบได้พอดี ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น
.
คุณต่อช่วยคิดค้นน้ำพริกหรือผงโรยข้าวสูตรคนไทยซึ่งเป็นน้ำพริกที่หนูทำในปัจจุบันและทำให้หนูมีกำลังใจและมองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น
.
ด้วยความที่มีทุนในรูปตัวเงินน้อยมากแต่ทุนทางใจกลับมีสูงมากๆ หนูจึงตั้งใจที่จะสร้างตำนานบทเล็กๆ จากคำแนะนำและการชี้แนะของคุณต่อ ในการผันตนเองมาเริ่มธุรกิจเล็กๆ ที่จันทบุรีและควรมุ่งไปในทิศทางไหนจึงจะเหมาะสมกับตัวสินค้าและความสามารถของเรา ด้วยกระแส “รักษ์สุขภาพ” ของคนไทยที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยมา จึงได้เปิดร้านขายข้าวแกง ชื่อ  “บ้านน้ำพริกข้าวสวย”  และต้องการสร้างความแตกต่างจากร้านอื่น จึงนำใบตองมาห่อข้าวและพันด้วยเชือกกกแทนการใช้กล่องโฟม และได้ย้อนยุคการบริโภคอาหารที่คงคุณค่าความเป็นไทยควบคู่ไปกับการใส่ใจสุขภาพให้มากขึ้นและเปลี่ยนภาชนะใส่อาหารสำหรับลูกค้าที่มารับประทานภายในร้านให้เข้ากับบรรยากาศ เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกเสมือนได้นั่งทานข้าวในบ้านตนเองเคล้าเสียงเพลงยุคเก่าก่อนสมัยปู่ย่าตายาย
.
ส่วนของน้ำพริกโฮมเมด ใช้แบรนด์ที่ชื่อว่า “แม่อิ๊ด น้ำพริกจันทบูร” นั้น พร้อมปรับชื่อเรียกน้ำพนิกของทางร้านเป็น “ผงโรยข้าว” สำหรับโรยข้าวสวยร้อนๆ ให้น่ารับประทาน หรือจะทานกับข้าวต้ม โจ๊ก ขนมปัง ข้าวเหนียว สลัด ก็อร่อยได้เต็มคำสไตล์นานาชาติ แต่ยังคงไว้ซึ่งการปรุงตามสูตรโบราณโดยใช้สมุนไพรกระวาน พริกไทยดำ ( พืชเศรษฐกิจของจันทบุรีเป็นวัตถุดิบสำคัญในการปรุง) ปรับรสชาติให้น่ารับประทานยิ่งขึ้นด้วยการเพิ่มเนื้อทุเรียนอบ (มีสารโพลีฟินอล) ซึ่งมีสรรพคุณอันเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย อีกทั้งยังเป็นวัตถุดิบในท้องถิ่น และใช้เฉพาะ กุ้ง ปู ปลาจากทะเล ปรุงด้วยเกลือ น้ำปลาลดโซเดียม น้ำตาลซูคราโลส คนป่วยทานได้ คนรักษาสุขภาพทานดี ใช้การอบแทนการทอด
.
เงินทุกบาททุกสตางค์ของลูกค้าไม่เพียงช่วยให้ธุรกิจของเราอยู่รอดและก้าวเดินต่อไปได้เท่านั้น แต่ที่แฝงมากับรายได้เหล่านั้นคือกำลังใจที่ช่วยสนับสนุนความคิดที่ว่า”ทราย” ตัดสินใจถูกต้องแล้วที่กลับมาสืบทอดกิจการของผู้ให้กำเนิด …
.
ติดตามข่าวสารกิจการของเธอได้ใน Facebook เสิร์ชหาคำว่า บ้านน้ำพริกข้าวสวย และเพจแม่อิ๊ดน้ำพริกจันทบูร แต่ถ้าใครผ่านไปเมืองขลุง  จันทบุรี อย่าลืมแวะให้กำลังใจเธอด้วยแล้วกัน.
.
สิทธิเดช ลีมัคเดช