Daily Mirror

สร้างสรรค์มุมมอง
อย่างรอบด้าน
เห็นมิติที่กว้างกว่า

“กระซิบรัก” ผ่านกาลเวลา เสียงอดีตเล่าขานบทธรรม จากวัดภูมินทร์ เมืองน่าน เรื่อง/ภาพ… ยอดยาหยี

“กระซิบรัก” ผ่านกาลเวลา เสียงอดีตเล่าขานบทธรรม จากวัดภูมินทร์ เมืองน่าน เรื่อง/ภาพ... ยอดยาหยี

“เมืองน่าน”  เมืองสงบท่ามกลางขุนเขาสายหมอก ยิ่งได้มาสัมผัสในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงกุมภาพันธ์  จะเหมือนหลุดเข้าไปอีกบรรยากาศ เวลาเดินช้าๆ ไม่เร่งรีบเหมือนบรรยากาศเมืองหลวงหรือหัวเมืองที่มีความเจริญเข้ามา
.
ไปเมืองน่านทุกครั้ง ประทับใจทุกครา ทั้งบ้านเมือง ผู้คนและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ชอบคือ ปั่นจักรยานชมเมือง ครั้งนี้ตั้งใจมาหลังเสร็จงานบุญทอดกฐินที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่  ในขบวนบุญอยากไปสัมผัสเมืองน่าน ซึ่งเส้นทางต้องไปอีกหลายร้อยกิโล ไกลแค่ไหนก็จะไปเมื่อใจมันร่ำร้อง เมื่อมีเป้าหมายล้อขบวนบุญก็หมุน
.
ผ่านหุบเขาลูกแล้ว ลูกเล่า ขึ้นเนินลงเนิน ผ่านโค้งแค่สองโค้งก็ถึง (โค้งซ้ายและโค้งขวา) ในเวลาครึ่งวันก็มาถึง แต่ถ้านั่งเกวียนแบบเมื่อร้อยปีที่แล้ว คงเดินทางกันเป็นแรมเดือน  กาลเวลาและความเจริญช่างย่นย่อเวลาได้เร็วจริงๆ
.
สัมผัสแรก เมื่อมาถึงวัดภูมินทร์ ทุกคนในขบวนบุญหลากหลายวัย ไม่มีใครบ่นเรื่องเส้นทาง เพราะหลับกันมาสบาย  ต่างลงจากรถถือสัมภาระ และที่ขาดไม่ได้คือ มือถือที่หลากยี่ห้อ ที่นอกจากโทรคุยและยังถ่ายรูปได้แต่สามารถส่งภาพข้างหน้าได้ฉับไวในเสี้ยววินาที ตามกฎของไวไฟ(
Wifi) และเฟสบุ้คโซเซียล ที่บอกว่า ข้ามาทำอะไร  ที่ไหน อย่างไร  เมื่อไหร่ และกับใคร 555
.
จากที่นั่งสังเกตดูทุกคนที่มาถึง  ต่างมุ่งไปที่ภาพกระซิบรักบันลือโลก (แหม
!!ใครหนอช่างตั้ง) กดและถ่ายและเข้าคิวกันเป็นแถวก่อนเป็นลำดับแรก  ก่อนจะเห็นพระประธานจตุรทิศ สี่องค์สี่ทิศซะอีก  ทั้งที่หัวใจหลักของวัดภูมินทร์ แห่งนี้คือ พระประธานอุโบสถและวิหารจตุรทิศแห่งนี้ที่มีความแปลก และประวัติศาสตร์ และปริศนาธรรมของผู้สร้างในอดีต


เลยขอเอ่ยถึงอดีตกาลแห่งความภูมิใจและแรงศรัทธาที่ผ่านมาหลายร้อยปีของชาวน่าน  ในความเป็นมาของ “วัดภูมินทร์” เดิมชื่อ “วัดพรหมมินทร์” เป็นวัดที่แปลกกว่าวัดอื่น ๆ คือ โบสถ์และวิหารสร้างเป็นอาคารหลังเดียวกันประตูไม้ทั้งสี่ทิศแกะสลักลวดลาย โดยช่างฝีมือล้านนาสวยงามมาก นอกจากนี้ฝาผนังแสดงถึงชีวิตและวัฒนธรรมของยุคสมัยที่ ผ่านมาตาม พงศาวดารของเมืองน่าน วัดภูมินทร์สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2139 โดย พระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ เจ้าผู้ครอง เมืองน่านได้สร้างขึ้นหลังจากที่ครองนครน่านได้ 6 ปี มีปรากฏในคัมภีร์เมือง เหนือว่าเดิมชื่อ “วัดพรหมมินทร์” ซึ่งเป็นชื่อของเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ ผู้สร้างวัด แต่ตอนหลังชื่อวัดได้เพี้ยนไปจากเดิมเป็น “วัดภูมินทร์”
.
อีกสามร้อยปีต่อมา วัดภูมินทร์ ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่สมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๐ (ปลายสมัยรัชกาลที่ ๔) ใช้เวลาซ่อมนานถึง ๗ ปี  ลักษณะอุโบสถ เป็นอาคารจตุรมุข มีประตูทั้ง ๔ ทิศมีพญานาค ๒ ตัว โผล่ส่วนหัวออกมาจากฝาผนังอุโบสถเลื้อยเป็นราวบันไดแบบสะดุ้งชูหัวอย่างสง่า รวกับมีชีวิต  ด้านทิศเหนือ ลำตัวลอดอุโบสถ ส่วนหางโผล่ออกจากฝาผนัง ทิศใต้เลื้อยเป็นราวบันไดลงขนาดหางไว้ทางทิศใต้ ตรงกลางในอุโบสถมีพระประธานปูนปั้นแบบสุโขทัย ๔ องค์ มีชื่อเรียกว่า “พระพุทธมหาพรหมอุดมศักยมุนี” ที่ผู้สร้างได้ให้ช่างได้ปั้นและหล่อขึ้นทั้งสี่องค์  ที่แฝงเป็นปริศนาธรรมคือ พรหมวิหารสี่ ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา  ถ้าสังเกตให้ดีจะมีอยู่องค์หนึ่ง ที่พระโอษฐ์(ปาก) จะยิ้มมากกว่าทุกองค์  องค์นี้จะมีคนมากราบขอพรมากที่สุด นัยว่า กราบท่านแล้วจะสัมฤทธิ์ผลและมีความสุขเร็วกว่าองค์อื่น  (ซึ่งก็คงแล้วแต่ความเชื่อของแต่ละท่านครับ)
.
ในเวลาสี่ร้อยกว่าปี แห่งการสร้างวัดภูมินทร์ พระประธานทิศทั้งสี่  คงได้ยินเสียงพร่ำภาวนาและขอพรตลอดเวลาไม่เว้นวันหยุดจากลูกหลานเมืองน่านและผู้มาเยือนเป็นจำนวนเรือนล้านคน  แม้แต่ผมเองก็เป็นส่วนหนึ่งของกาลเวลาธรรมแห่งนี้   คงจะสมหวังกันทุกคน เพราะเมื่อได้กราบและไหว้หลวงพ่อแล้วจะรู้สึกอิ่มเอิบใจกันทุกคนยิ่งนัก  ธรรมรสเลิศแม้สัมผัสเพียงเสี้ยวหนึ่ง มันก็ช่างปิตินักแล
.
ไม่น่าเชื่อว่า ที่วัดภูมินทร์แห่งนี้ นอกจากพระประธานทิศทั้ง ๔ ที่ศักดิ์สิทธิ์แล้ว ภาพจิตรกรรมบนผนังโบสถ์แห่งนี้ที่ดังแบบเขาว่าบันลือโลก “ปู่ม่านย่าม่าน” กระซิบรักหรือเอ่ยอะไรกันนั้นผมไม่ได้ยินด้วยเลยนั้น   จะเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์หรือเซ็นเตอร์พอยท์ของการมาที่นี่  ซึ่งภาพวาดของหนุ่มสาวที่ท่าทางอาการกระซิบกันช่างไม่มีแห่งใดเหมือน  จะเป็นเสน่ห์ยิ่ง ใครมาถึงจุดอัพสเตตัสนี้ ต้องถ่ายรูปกันว่าครั้งหนึ่งฉันเคยมาเยือนแล้วนะ ณ ที่แห่งนี้  และคำขอพรที่หลายคนอาจส่งกระแสจิตว่าขอให้สมหวังในรัก และสมปรารถนาทุกอย่างที่ต้องการนะ  ดูเหมือนจะเป็นประโยคฮิตและเป้าหมายที่มาเยือนสถานที่แห่งนี้

 

ซึ่งศิลปินผู้วาดที่รังสรรค์ผลงาน ที่ว่ากันว่าสำหรับช่างผู้วาดนั้น ไม่ปรากฎประวัติ สันนิษฐานกันว่า คือ “หนานบัวผัน” เพราะมีภาพวาดลักษณะคล้ายกันวาดที่วัดหนึ่งและมีบันทึกผู้วาดไว้ เป็นศิลปะแบบชาวไทลื้อ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย ที่อพยพมาจากสิบสองปันนา หลวงพระบางและล้านช้าง วาดภาพที่มีขนาดใหญ่เท่าคนจริงเพียงนี้ มีความเป็นไปได้เพียงใดว่า ที่ชายหนุ่มในภาพอาจเป็นภาพเหมือนของตัวจริงของตัวศิลปินผู้วาดภาพเอง ตลอดรวมไปถึงข้อสงสัยว่าจิตรกรรมฝาผนังภาพนี้ ซ่อนรหัสนัย อะไรไว้
.
จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ เนื้อหาภาพส่วนใหญ่จะเล่าเรื่อง “คันธกุมาร” เป็นนิทานชาดก ที่มุ่งสอนให้คนทำความดี ช่างวาดได้สอดแทรกภาพวิถีชีวิตของชาวน่านในอดีต วัฒนธรรมการแต่งกายโดยเฉพาะการแต่งกายของสตรีที่มักนิยมนุ่งซิ่นลายน้ำไหล การทอผ้าด้วยกี่ทอมือ การติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 5 แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลตะวันตกที่เข้ามาผสมผสานในวิถีพื้นเมืองน่าน ตลอดจนถึงภาพวาดความรักใคร่ของหนุ่มสาวอันยวนใจซึ่งพ่อแม่จะอนุญาตให้หนุ่มสาวพบปะกันที่ชานบ้านในเวลาค่ำ ฯลฯ และภาพปู่ม่าน ย่าม่าน ซึ่งภาพนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพที่งามเป็นเยี่ยมของวัดภูมินทร์ ซึ่งด้วยฝีมือของช่างวาดนี้เอง ส่งผลให้จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ที่สุด” ของภาพจิตรกรรมฝาผนังล้านนา
.
เมืองน่านในช่วงนี้ทั้งเมือง อบอวลไปด้วยกลิ่นอายของความรักที่แสนจะโรแมนติกเข้ากับในช่วงฤดูหนาว เหมาะที่จะเดินปล่อยใจ ทำกายให้ชุ่มชื่นด้วยธรรมและชื่นชมกับความงามของสถาปัตยกรรมเก่าแก่ด้วยการขี่จักรยาน   และชมวิถีชีวิตของผู้คนในอีกมิติ ที่ไม่ได้เห็นในเมืองหลวงได้ง่ายนัก  การเดินทางมาที่วัดภูมินทร์ ครั้งนี้จึงสมกับความตั้งใจที่จะกราบพระประธานทิศทั้ง ๔ “พระพุทธมหาพรหมอุดมศักยมุนี” และมาชมภาพพุทธศิลป์ และภาพแห่งความรักที่กระซิบบอกกันด้วยท่าทางที่งดงามอันลือลั่นไปทั่วโลก  ทั้งในโซเชียลไซเบอร์ และเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้คนรู้จักเมืองน่านมากขึ้น  หนาวนี้…หยุดยาวลองแพลนเป้าหมายมาเมืองน่าน  ท่องเที่ยวและทำบุญกันเถอะ…
.
ดูศรัทธาแห่งธรรมที่ยาวนาน เมืองน่านแห่งนี้ยังไม่เสื่อมมนต์ขลังครับ…
.
เรื่อง/ภาพ….  ยอดยาหยี