Daily Mirror
สร้างสรรค์มุมมอง
อย่างรอบด้าน
เห็นมิติที่กว้างกว่า
Daily Mirror
สร้างสรรค์มุมมอง
อย่างรอบด้าน
เห็นมิติที่กว้างกว่า
เคยสงสัยไหม?ว่าเราเรียกกรุงเทพฯ ทำไมภาษาอังกฤษไม่เขียน Krungtep แต่เขียนว่า Bangkok โดย…..ปิยะนุช นาคคง
.
ชื่อบางกอกมาจากไหน? ทำไมต้องเรียกบางกอก? การเปลี่ยนแปลงของบางกอกตามกาลเวลา มีเหตุการณ์มากมายที่ต้องบันทึก ศึกษาและเล่าขานสู่ลูกหลานในอนาคต
.
เชื่อหรือไม่ 1,000 ปีที่แล้วบางกอกอยู่ใต้ทะเล
.
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยมีลายพระหัตถ์เล่าว่า “ขุดได้ซากปลาวาฬที่บางเขน ไม่ห่างสะพานพระราม 6 เท่าใดนัก” เมื่อกว่า 12,000 ปีมาแล้วบริเวณที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นทะเล โดยเพิ่งจะกลายมาเป็นแผ่นดินที่เต็มไปด้วยโคลนตม ราว 900 ปีที่ผ่านมา อ่าวไทย มีขอบเขตกว้างขวางสูงขึ้นไปถึงลพบุรีหรือเหนือขึ้นไปอีก ตามที่ปรากฎหลักฐานในสมัยทวารวดี
.
โดยรอบอ่าวไทยมี “มนุษย์อุษาคเนย์” ร่อนเร่เป็นกลุ่มเล็กๆ กระจัดกระจายแสวงหาอาหารตามธรรมชาติด้วยเครื่องมือทำด้วยหินและไม้ บางทีก็เอาเรือไม้แล่นหาอาหารตามทะเลโคลนตม
.
ในหนังสือกรุงเทพฯ มาจากไหน? (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2548) เล่าว่าทะเลอ่าวไทยยุคดึกดำบรรพ์ราว 12,000 ปีมาแล้ว มีขอบเขตกว้างขวางกว่าปัจจุบัน ดังนี้
.
ทิศเหนือ ทะเลสูงขึ้นไปถึงบริเวณ จ.ลพบุรี หรือเหนือขึ้นไปอีก.
.
ทิศตะวันตก ทะเลเว้าเข้าไปถึงบริเวณ อ.เมือง และ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ต่ำลงมาที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ต่ำลงมาที่ อ.เมือง จ.ราชบุรี และต่ำลงมาที่ อ.เมือง จ.เพชรบุรี
.
ทิศตะวันออก ทะเลเว้าเข้าไปถึงบริเวณ จ.สระบุรี จ.นครนายก จ.ปราจีนบุรี และเว้าไปถึง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี
เมื่อขอบเขตอ่าวไทยยุคดึกดำบรรพ์ล้ำเข้าไปมากกว่าปัจจุบัน แม่น้ำสายสำคัญๆ ที่ไหลลงทะเลจึงสั้นกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ คือ
*ปากน้ำเจ้าพระยา อยู่บริเวณ จ.นครสวรรค์-ชัยนาท
*ปากน้ำแม่กลอง อยู่ทาง จ.นครปฐม (แม่น้ำท่าจีนยังไม่มี)
*ปากน้ำบางปะกง อยู่ทาง จ.นครนายก-ปราจีนบุรี
*ปากน้ำป่าสัก อยู่ทาง จ.ลพบุรี เป็นต้น
.
ตามปรากฏการณ์ธรรมชาติ อันเป็นผลจากการทับถมของตะกอนหรือโคลนตมที่ล้นทะลักไหลมากับน้ำในแม่น้ำสายต่างๆ ที่มีอยู่รอบอ่าวไทย ยุคโน้น ครั้นนานเข้าก็กลายเป็นทะเลโคลนตม ขยายพื้นที่กว้างออกไปเรื่อยๆ ช้าๆ ตามธรรมชาติ
.
ที่สุดโคลนตมที่ถมทับกลับกลายเป็นดินดอน แผ่กว้างเป็น “แผ่นดินบก” สืบเนื่องจนปัจจุบันนอกจากจะถมทะเลให้เป็นแผ่นดินบกแล้ว โคลนตมจำนวนมหาศาลยังเป็นปุ๋ย ธรรมชาติดีที่สุด ที่ทำให้พื้นดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกข้าวในสมัยหลังๆ
เมื่อตะกอนจากแม่น้ำทะลักออกมาทับถมนานนับพันปี ในที่สุดอ่าวไทยก็ค่อยๆ หดลง บริเวณที่โคลนตมตกตะกอนก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของผืนแผ่นดินใหญ่
.
บางกอกในยุคก่อนประวัติศาสตร์
3,000 ปีมาแล้ว มนุษย์รู้จักถลุงเหล็กทั่วไปทั้งภูมิภาคอุษาคเนย์ มีชุมชน บ้านเมืองขนาดเล็กๆ เกิดขึ้นทั่วไป มีคนจากที่ต่างๆ เคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งหลักแหล่งในดินแดนประเทศไทยมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เมืองบางกอกยุคนั้นยังเป็นทะเลโคลนตม จึงไม่มีคนตั้งหลักแหล่งถาวรได้ จะมีก็เพียงคนบางกลุ่มเคลื่อนไหวแสวงหาอาหารผ่านไปมา
.
คนพื้นเมืองยุคแรกนี้คงเป็นพวกทำมาหากินชายฝั่งทะเล เช่น พวกพูดภาษามาเลย์-จาม กับชวา-มลายู จนถึงตระกูลมอญเขมรกับลาว-ไทยที่กระจัดกระจายจากพื้นที่ภายในภาคพื้นหรือบริเวณหุบเขาลงมาประสมประสานอยู่ด้วยกันกับพวกอื่นๆ ที่อยู่ใกล้ทะเล (สุจิตต์ วงษ์เทศ, กรุงเทพมาจากไหน?, มติชน (2548) หน้า 18)
.
หลัง พ.ศ. 1600 มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมือง และสังคม วัฒนธรรมขนานใหญ่ มีบ้านเมืองและรัฐรุ่นใหม่เติบโตขึ้นโดยรอบอ่าวไทย โดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น รัฐอโยธยาศรีรามเทพ (ที่ต่อมาเป็นกรุงศรีอยุธยา)
.
ชื่อบางกอกมาจากไหน ใครเรียก?
.
ในแผนที่ทะเลและแผนที่ครั้งโบราณที่ชาวต่างประเทศได้ทำไว้แต่สมัยกรุงศรีอยุธยาปรากฏตำแหน่งที่ตั้งของเมืองธนบุรีในชื่อของบางกอก โดยสะกดว่า Bangkok , Bancoc , Bancok , Banckok , Bankoc , Banckock , Bangok , Bancocq , Bancock ก็มี และในบางแผ่นเขียนคำว่า Siam อันหมายถึงประเทศสยามไว้ตรงที่ตั้งของบางกอก ในขณะที่มีคำว่า Judia , Odia, Juthia , Ajothia ,Odiaa อยู่เหนือขึ้นไปในตำแหน่งที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยา ฉะนั้นบางกอกจึงเป็นสัญลักษณ์ของราชอาณาจักรไทยด้วย (แผนที่ประเทศไทยครั้งโบราณนี้ พิพิธภัณฑ์แผนที่ของกรมแผนที่ทหาร ได้รวบรวมและทำสำเนามาเก็บรักษาไว้ได้เป็นจำนวนมาก)
.
คำว่า “บาง” หมายถึง ลักษณะพื้นที่เป็นที่ชุ่มน้ำ เป็นทางน้ำเล็กๆที่ไหลขึ้นลงตามระดับน้ำในแม่น้ำลำคลองหรือเป็นการตั้งถิ่นฐานที่อยู่ของผู้คนตามริมแม่น้ำลำคลอง คุณสังเกตุดู ชุมชนใดที่นำหน้าด้วยคำว่า “บาง” ชุมชนนั้นจะต้องตั้งอยู่ริมน้ำเสมอ
.
สิ่งที่เป็นหลักฐานถึงที่มาของคำว่าบางกอกที่ยังปรากฎอยู่ในปัจจุบันคือคลองบางกอกน้อย คลองบางกอกใหญ่ และวัดมะกอก อันเป็นชื่อเดิมของวัดอรุณราชวราราม คือ
.
มีการถกเถียงการหลายตำราว่า “บางกอก” มาจากภาษาอะไรกันแน่ และทำไมจึงเรียกว่า “บางกอก” บางท่านก็เข้าใจว่า บริเวณนั้นแต่เดิมจะเป็นป่ามะกอก คือมีต้นมะกอกมากนั่นเอง จึงเอานามต้นไม้มาเรียกเป็นชื่อตำบลว่า ตำบลบางกอก (ส. พลายน้อย, เล่าเรื่องบางกอก, รวมสาส์น : พิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2535 หน้า 16)
.
หมอสมิท (Mal colm Smith) ได้กล่าวไว้ในหนังสือ A physician at the court of Siam ว่า “ชื่อบางกอกมาจากคำว่า บาง คือหมู่บ้านคำหนึ่ง และคำว่า กอก ซึ่งเป็นผลไม้ป่าชนิดหนึ่ง (Spondias pinnata) อันเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวยุโรป และว่าชาวโปรตุเกสที่เข้ามาเมืองไทยในคริสต์สตวรรษที่ 16 เป็นผู้ให้กำเนิดคำนี้”
.
แต่ในหนังสือ “จดหมายเหตุรายวันของท่านบาทหลวง “เดอ ชวาสี”” ได้หมายเหตุไว้ว่า “บางกอก คือจังหวัดธนบุรี บางแปลว่า บึง กอกแปลว่า น้ำ (กลายเป็นแข็ง) หรือน้ำกลายเป็นดิน หรือที่ลุ่มกลายเป็นดอน” แต่ก็ไม่ได้บอกว่า กอก ที่ว่านั้นเป็นภาษาอะไร?
.
นอกจากนี้ยังมีบางท่านกล่าวว่า น่าจะมาจากคำว่า Benkok ซึ่งเป็นภาษามลายู แปลตามตัวว่าคดโค้ง หรืองอ อ้างว่า แม่น้ำในบางกอกสมัยก่อนโน้นคดโค้งอ้อมมาก พวกมลายูที่มาพบเห็นจึงพากันเรียกเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม ความเห็นเหล่านี้ก็คงเป็น “ความเห็น” เท่านั้น (ส. พลายน้อย อ้างแล้ว หน้า 16-17)
.
การขุดคลองลัดนี้ก่อให้เกิดสภาพทางภูมิศาสตร์ใหม่ กล่าวคือแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมเล็กลงจนกลายเป็นคลอง ในขณะที่คลองฝีมือมนุษย์กลับกว้างขึ้นจนกลายเป็นแม่น้ำจากคลองที่ขุดขึ้นใหม่นี้เอง
.
จากอ่าวไทยถึงอยุธยา จะมีเกาะถึง 9 เกาะ ทำให้ความสำคัญของธนบุรีทวีขึ้นจนถึง พ.ศ.๒๑๐๐ จึงจะพอเดาออกได้ ว่า คำว่าบางกอก น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า บางเกาะ
.
บันทึกเมืองบางกอก ที่ปรากฎหลักฐานในสมัยอยุธยา
.
หลังจากราชอาณาจักรไทยได้สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานี มีความเจริญมั่นคงทั้งในด้านการปกครอง การทหาร และการเศรษฐกิจ กล่าวคือนอกจากจะได้มีการตราพระราชกำหนดกฎหมายขึ้นเป็นหลักในการปกครอง และวางระเบียบการบริหารประเทศทั้งในกรุงและหัวเมืองขึ้นโดยเรียบร้อยแล้ว ยังมีอำนาจเหนือประเทศราชน้อยใหญ่ในแถบเอเชียอาคเนย์ ทั้งลาว เวียดนาม กัมพูชา และมลายู ทั้งยังเป็นเมืองท่าสำคัญในการเดินเรือติดต่อค้าขายระหว่างยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชียในขณะนั้นด้วย และด้วยเหตุประการหลังนี้ พื้นที่แถบบริเวณ “บางกอก” อันเป็นที่ตั้งของกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน จึงเริ่มเป็นที่สนพระทัยของ พระมหากษัตริย์หลายรัชกาล
.
บันทึกของชาวต่างชาติถึงบางกอก
.
บางกอกเป็นเมืองด่านที่สำคัญมาแต่แรกตั้งจนตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา รายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะภูมิประเทศและการทำมาหากินของชาวบางกอกในครั้งนั้น เอกสารประวัติศาสตร์ฝ่ายไทย มิได้กล่าวถึงมากนักด้วยผู้บันทึกคงจะเห็นเป็นของธรรมดา แต่จากบันทึกและจดหมายเหตุของชาวต่างประเทศได้ให้หลักฐานอันน่าสนใจเกี่ยวกับบางกอกไว้เป็นอันมาก อาทิ เช่น
.
ในเอกสารชุด The Records of Relation Between Siam and Foreign Countries in 17 th Century Vol.1 (บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในศตวรรษที่ 17) ซึ่งเป็นบันทึกของชาวต่างประเทศที่เข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาที่เก่าสุดเท่าที่สอบค้นได้ในปัจจุบัน พ่อค้าชาวฮอลันดาได้เขียนบันทึกบรรยายเกี่ยวกับอาณาจักรสยามไว้เมื่อปีพุทธศักราช 2160 – 2161 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ความตอนที่กล่าวถึงบางกอกนั้นมีว่า
.
“กรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ประมาณ 15 องศา ทางเหนือ ต้องเข้าแม่น้ำไปภายในแผ่นดินประมาณ 20 ไมล์ฮอลันดา แม่น้ำนี้จัดอยู่ในประเภทแม่น้ำที่ดีที่สุดในย่านอินดีส ซึ่งสามารถให้เรือระวางหนักตั้งแต่ 150 ถึง 200 ลาสท์ กินน้ำลึกตั้งแต่ 12 ถึง 13 ฟุตขึ้นไปเข้าจอดได้โดยสะดวก จากปากน้ำเข้าไป 5 ไมล์เป็นที่ตั้งของเมืองล้อมรอบด้วยกำแพงมีชื่อว่า บางกอก ณ ที่นี่เป็นที่ตั้งของด่านภาษีแห่งแรก เรียกว่า ขนอนบางกอก (Canen Bangkok) ซึ่งเรือและสำเภาทุกลำไม่ว่าจะมาจากชาติใดก็ตาม จะต้องหยุดจอดทอดสมอ และแจ้งให้ด่านนี้ทราบก่อนว่าจะเข้ามาเพื่อจุดประสงค์อันใด บรรทุกสินค้ามาจากไหน มีผู้ใดมากับเรือบ้าง และมีสินค้าอะไรบ้างที่บรรทุกมา ก่อนที่เรือเหล่านั้นจะล่วงล้ำหรือเดินทางเข้าไปกว่านั้น จากบางกอกขึ้นมาประมาณ 1 ไมล์ มีด่านศุลกากรอีกแห่งหนึ่งเรียกว่า บ้านตะนาว (บริเวณเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี) ในปัจจุบัน ซึ่งเรือทุกลำที่จะขึ้นไปยังกรุงศรีอยุธยาจะต้องหยุดตรวจอีกครั้งหนึ่ง เพราะอยู่ในรัศมีไม่ไกลจากกรุงศรีอยุธยา
.
กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองที่ล้อมรอบด้วยกำแพงหิน และมีแม่น้ำโอบไปโดยรอบ มีประชาชนอยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองสวยงาม เป็นที่เชิดหน้าชูตาของกรุงสยามตามแบบฉบับของเมืองในแถบตะวันออก ในทำนองเดียวกัน เมื่อเรือจะกลับออกไปและเมื่อผ่านด่านภาษีที่บ้านตะนาวอีก ก็จะต้องหยุดทอดสมอเพื่อแจ้งให้ทราบว่าจะออกเดินทางไปไหน มีสินค้า สัมภาระและบรรทุกใครออกไปบ้าง ในเรื่องเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัตินั้นผู้ที่จะออกไปจะต้องได้รับหนังสือพระราชทานสำคัญเสียก่อน เรียกว่า ตรา หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง (ใบผ่าน) ซึ่งจะต้องนำไปแสดงที่ด่านภาษีที่บางกอก ซึ่ง ณ ที่นี้เรือจะต้องหยุดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจ่ายอากรแผ่นดินสำหรับเรือและสินค้า หากไม่ปฏิบัติตามนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นนายเรือหรือเจ้านายอื่น ๆ ก็ตาม จะถูกยึดเรือทันที”
.
2.จดหมายเหตุของนายเซเบเรต์ (Ceberet) ซึ่งเดินทางเข้ามาในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระหว่างพุทธศักราช 2230 – 2231 ว่า “ได้ไปปรึกษากับมองซิเออร์เดอโวดรีคร์ ถึงเรื่องที่จะพาเรือรบเข้าไปในลำแม่น้ำจนถึงบางกอก มองซิเออร์เดอโวดรีคร์ จึงได้ตอบว่า การที่จะพาเรือเข้าไปในลำแม่น้ำในฤดูนี้ทำไม่ได้ เพราะน้ำในแม่น้ำกำลังท่วมตลิ่งและไหลเชี่ยวแรงมาก ถึงน้ำทะเลจะขึ้นก็ยังไม่พอทานกำลังกระแสเชี่ยวในลำแม่น้ำได้ และถ้าเรือเล็ก ๆ จะขึ้นไปตามลำแม่น้ำแล้ว ก็จะต้องทิ้งสมอลง และกว้านสมอนั้นพาเรือขึ้นไปทีละน้อย ๆ ซึ่งจะเป็นการกินเวลาไม่ต่ำกว่า 15 วัน เพราะระยะตั้งแต่ด่านภาษีซึ่งตั้งอยู่ที่ปากน้ำถึงบางกอกนั้น เป็นระยะไกลถึง 10 ไมล์”
.
แต่อย่างไรก็ตาม นายเดอลาลูแบร์ (Simon de la Loub?re) ราชทูตฝรั่งเศสซึ่งเดินทางเข้ามาพร้อมนายเซเบเรต์ (ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมไว้ในหนังสือ Du Royaume de Siam (จดหมายเหตุลาลูแบร์) ว่า “ในเดือนตุลาคม กระแสลมพัดผ่านมาทางทิศตะวันตกและทิศเหนือ ฝนก็หยุดตก ในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม สายลดพัดมาจากทิศเหนือ กวาดน่านน้ำ (ให้หมดเมฆ) และดูจะกระหน่ำลงทะเลอย่างแรงถึงขนาดกวาดน้ำที่ท่วมแผ่นดินอยู่ให้ลงทะเลไปได้ภายในไม่กี่วัน ตอนนี้กระแสน้ำขึ้นลงไหลอ่อนมาก ทำให้น้ำในแม่น้ำมีรสจืดไปได้ไกล (จากหน้าเมืองบางกอก) ถึง 2 ลี้ หรือ 3 ลี้”
.
3.นายเชอวาลิเออร์ เดอโชมองต์ (Chevalier de Chaunmont) ราชฑูตของสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์บันทึกจดหมายเหตุไว้ว่า “เมืองบางกอกเป็นหัวเมืองหนึ่งของพระเจ้าแผ่นดินสยาม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำห่างจากทะเล 24 ไมล์ …..เดินทางจากอยุธยามาบางกอกทางเรือใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมง (ออกจากอยุธยา 5 โมงเย็น) ถึงบางกอกรุ่งขึ้นเวลาเช้า……เวลาเช้าเดินทางออกจากบางกอกถึงปากอ่าวเวลา 4 โมงเย็น” (จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ หน้า 16, คณะกรรมการจัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี, กรมศิลปากร, กรุงเทพฯ (2525)
.
การขุดคลองครั้งสำคัญเปลี่ยนทิศทางแม่น้ำเจ้าพระยา
.
ด้วยร่องแม่น้ำอันคดเคี้ยวระหว่างกรุงศรีอยุธยากับทะเลนั้น หากได้ขุดคลองลัดขึ้นก็จะอำนวยความสะดวกในการขนส่งทางเรือ และลำน้ำเจ้าพระยาเดิมซึ่งไหลจากสามเสนเข้าคลองบางกอกน้อย ตลิ่งชัน บางระมาด เลี้ยวออกคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งเป็นทางอ้อมโค้ง หากไปด้วยเรือแจวจะกินเวลาตั้งแต่เช้าจรดเย็น
.
พ.ศ. ๒๐๘๕ ในรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช จึงขุดคลองลัดบางกอกขึ้นปัจจุบัน กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงที่ไหลผ่านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ท่าราชวรดิฐ วัดอรุณราชวราราม และท่าเตียน ส่วนแม่น้ำเดิมแคบลง กลายเป็นคลอง ที่เรียกชื่อว่า คลองบางกอกน้อย คลองบางขุนศรี และคลองบางกอกใหญ่ เชื่อมต่อกัน
.
สำหรับตำบลบางกอก ซึ่งเคยอยู่ฝั่งตะวันออกของลำน้ำเจ้าพระยาเดิม ก็กลายเป็นพื้นที่ซึ่งมีแม่น้ำไหลผ่านกลาง แต่ทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกก็ยังคงใช้ชื่อรวมกันว่า “บางกอก” เช่นเดิม
.
คลองลัดเมืองนนท์ ขุดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๘ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ปัจจุบัน กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนที่ไหลผ่านหน้าตลาดขวัญ ในจังหวัดนนทบุรี ส่วนแม่น้ำเดิมแคบลง กลายเป็นคลองที่เรียกกันว่า คลองแม่น้ำอ้อม เชื่อมต่อกับคลองบางกรวย
.
คลองลัดเกร็ดน้อย ขุดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๖๕ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ปัจจุบัน กลายเป็นแม่น้ำใหญ่ ของลำน้ำเจ้าพระยา ส่วนลำน้ำเดิมไหลอ้อมผ่านไปทางตำบลเกาะเกร็ด และตำบลอ้อมเกร็ด อำเภอปากเกร็ด ในเขตจังหวัดนนทบุรี เรียกชื่อว่า คลองอ้อมเกร็ด
.
คลองลัดเกร็ดใหญ่ ขุดขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม คลองสายนี้ได้กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม เมื่อมีคลองลัดตัดตรงไป จึงทำให้แคบลง ปัจจุบัน เป็นคลองบ้านพร้าว เชื่อมต่อกับคลองบางหลวงเชียงราก อยู่ในเขตจังหวัดปทุมธานี
.
เมืองบางกอกกลายเป็นเมืองธนบุรี
.
รั้นขุดคลองลัดแล้ว บางกอกจึงเริ่มมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ขึ้น และต่อมาตั้งเป็นเมืองด่านเรียกว่า เมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร ปรากฏชื่อเป็นครั้งแรกในพระราชพงศาวดาร รัชกาลต่อมา คือรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พุทธศักราช 2091 – 2111)ศรีอยุธยา และผ่านอีกในตอนขากลับ แม้ชาวต่างชาติจะรู้จักเมืองนี้ในนาม บางกอก แต่ชื่อทางการของเมืองหน้าด่าน แห่งนี้คือ ธนบุรีศรีมหาสมุทร
.
บางกอกกลายเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของอยุธยาในการเดินทางออกทะเล และเป็นเมืองค้าขายที่พักเรือสินค้าขนาด ใหญ่ที่คอยขนส่งถ่ายสินค้าเข้า-ออกของสยาม ความสำคัญของเมืองจึงทำให้เจ้าเมืองทนบุรีศรีมหาสมุทรมีอำนาจและมีบทบาทหน้าทั้งการค้า การ ต่างประเทศ และการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในกรณีที่จะเกิดเหตุการณ์ต่างๆขึ้น ตลอดจนเป็นชุมชนทางการค้าที่สำคัญมาแต่โบราณ
.
ภาพเรือสำเภาจากประเทศต่างๆที่เข้ามาทำการค้ากับกรุงสยามจอดอยู่บริเวณท่าช้างในปัจจุบัน
.
ดังนั้นความเจริญของเมืองนี้ จึงเป็นผลสืบเนื่องจากการเป็นด่านเก็บภาษีเรือสำเภาและเรือกำปั่นของฝรั่ง แขก จีน จาม ชวา ญี่ปุ่น จากหลากหลายสารทิศที่เข้ามาทำการค้ากับกรุงศรีอยุธยา การที่เมืองนี้ขึ้นตรงกับพระคลังบ่งว่าอีกส่วนหนึ่งของชุมชนที่อยู่อาศัยในละแวก เมืองธนบุรีศรมหาสมุทรนี้ ก็น่าจะเป็นครอบครัวของผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานพระคลังเช่นกัน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานพระคลัง และกรมท่าที่มาประจำการอยู่ที่เมืองบางกอก (ธนบุรีฯ) ส่วนหนึ่งเป็นผู้ชำนัญการ มาเลย์ แขกมัวร์ จีน จาม รวมถึงทหารรับจ้างฝรั่งรับจ้างมาประจำการป้อมเก็บภาษี
.
พื้นที่ของบางกอกในยุคนั้นจึงเต็มไปด้วยชาวต่างชาติ และศาสนสถานของพุทธ คริสต์ อิสลาม ตั้งเรียงรายอยู่สองฝั่งเมืองบางกอกเต็มไปหมด
.
จนถึงแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่กับเมืองบางกอก เมืองบางกอกกลายเป็นกุญแจสำคัญของพระราชอาณาจักร
.
เกิดการสร้างป้อมเก็บภาษีขนาดยักษ์ใหญ่ เป็นตึก 3 ชั้น สองฝั่งเจ้าพระยา ที่กลางลำน้ำมีโซ่ขนาดใหญ่ขวางจ้าพระยาไว้ ป้อมเหล่านี้หายไปไหน ติดตามได้ในบันทึกฉบับที่ 2