อุ้มผางบนทางแกร่ง

หลังจากอุ้มผางแจ้งเกิดบนเส้นทางท่องเที่ยว ผมเทียวไปเทียวมาหลายครา บางครั้งไปอยู่เป็นอาทิตย์ มีประสบการณ์ในเมืองแห่งนี้พอท้วมๆ ครั้งสุดท้ายไปเยือนเมื่อปี 2547 ปีนั้นไปล่องแก่งอุ้มผางคี แก่งดีๆ ที่ต้องจดจำ เวลาผ่านไปรวดเร็ว เร็วกว่าหัวใจคาดคิด

หลังจากอุ้มผางแจ้งเกิดบนเส้นทางท่องเที่ยว ผมเทียวไปเทียวมาหลายครา บางครั้งไปอยู่เป็นอาทิตย์ มีประสบการณ์ในเมืองแห่งนี้พอท้วมๆ ครั้งสุดท้ายไปเยือนเมื่อปี 2547 ปีนั้นไปล่องแก่งอุ้มผางคี แก่งดีๆ ที่ต้องจดจำ เวลาผ่านไปรวดเร็ว เร็วกว่าหัวใจคาดคิด วันนี้กลับไปเยือน ยังเห็นอุ้มผางในตัวตนเดิม ยังเห็นความงามในมิติเดิม แต่มีบางสิ่งที่เปลี่ยนไป.
.
อำเภออุ้มผางซ่อนตัวอยู่ในหุบเขากลางป่า ตรงรอยต่อเขตแดนพม่า แต่เดิมผู้คนส่วนใหญ่เป็นชาวปากากะญอ หรือที่คนไทยชอบเรียก (เหยียดๆ) ว่ากระเหรี่ยง พวกเขาเป็นชาติพันธุ์เก่าแก่ เป็นพวกรักษ์ป่า การเดินทางไปท่องเที่ยวอุ้มผางต้องใช้ความอดทนสูงเพราะอุ้มผางเป็นอำเภอที่อยู่ห่างจังหวัดตากถึง 240 กิโลเมตร การเดินทางไปอุ้มผางต้องใช้ถนนหมายเลข 1090 (สายแม่สอด-อุ้มผาง) เป็นเส้นทางคดโค้งสูงชัน ถนนสายนี้เลาะเลื้อยไปตามสันเขา ยาวประมาณ 164 กิโลเมตร ช่วงโค้งมากๆ ประมาณ 90 กิโลเมตร มีความคดโค้งถึง 1, 219 โค้ง สูงชันแต่สวยงาม งามพอๆ กับอันตราย ผู้ไม่ชำนาญทางโปรดระมัดระวังเป็นพิเศษ ส่วนมือใหม่หัดขับแค่คิดก็ผิดแล้ว
.
ระหว่างทางบนถนนลอยฟ้าพบผืนป่าดิบสลับกับทุ่งหญ้า (และขุนเขาที่ถูกบุกรุก) อากาศแปรปรวน ฝนตก แดดออก หมอกหนา ฟ้าเปิด (หลากรสจริงๆ) บางช่วงได้พบการทำนาบนภูเขา ข้าวที่ปลูกเป็นข้าวไร่ เม็ดกลมเล็ก รสชาติสู้ข้าวหอมมะลิไม่ได้แต่อร่อยดีเหมือนกัน (ถ้าไป แนะนำให้ลอง) เมื่อก่อนป่าไม้บนภูเขาหนาแน่น ตอนนี้มีไร่กะหล่ำปลีผุดโผล่เป็นดงดอน เชื่อว่าพวกชนเผ่าที่เข้ามาใหม่ทำลายป่า พวกเขาไม่สนใจป่าเหมือนปะกากะญอ ชนชาวปะกากะญอนับถือป่า สักการะน้ำ มีต้นไม้ประจำตระกูล มีทุนความคิดมาจากธรรมชาติ
.
ที่ราบในหุบเขา มีทุ่งหญ้า มีสายธารารินไหล มีลมหายใจผืนป่ารวยริน บางแห่งปลูกผัก บางแห่งปลูกข้าว บางแห่งมีเรื่องราวของไม้ดอกผุดพราวอยู่บนแปลงกว้าง การเดินทางบนถนนลอยฟ้าแม้จอดรถยากลำบากเพราะถนนแคบเล็ก แต่ช่วงผ่านหมู่บ้านถนนกว้างขึ้น สามารถจอดรถลงไปเดินแกว่งใจ สูดไออากาศ ดูต้นไม้ใบหญ้า ลงไปพิจารณาถึงวิถีความเป็นอยู่ของผู้คน แม้ไม่ได้อะไรติดมือมา ยังได้เปลี่ยนอิริยาบถ เปลี่ยนความอึดอัดบนรถมาดูความกว้างใหญ่ของขุนเขา
.
ยามสาง
อุ้มผางตกอยู่ในม่านหมอก อากาศยามเช้าหนาวเย็น เป็นเช่นนี้มานานแสนนาน เวลาผ่านไป เสียงรถแล่นออกไปนอกเมือง เสียงรถหายไปกับสายลม นักท่องเที่ยวเดินทางสู่ดอยหัวหมด หนึ่งดอยดังครั้งหนึ่งต้องไป ไปเพื่อชื่นชมสายหมอกขาวห่มคลุมเมือง
.
ก่อนออกไปล่องเรือยาง บนเส้นทางการท่องเที่ยวต้องไปเก็บเกี่ยวทัศนียภาพความงามบนดอยหัวหมดกันก่อน เสร็จสรรพแล้วค่อยไปทำกิจกรรมอย่างอื่น..เดินนิด ขยับใจหน่อย ขึ้นไปอยู่บนดอยอันเหน็บหนาว บนนั้นทะเลหมอกทอดตัวเหยียดยาวราวเกียจคร้าน ทอดร่างปกคลุมเมืองอุ้มผาง ปกคลุมถนนหนทางจนไม่รู้ว่าเมืองอยูตรงไหน ปกคลุมขุนเขากว้างไกลในมุม 180 องศา ภาพสุดท้ายก่อนจากลาคือตะวันแรกในทิวาใหม่ ดวงดีได้ ดวงร้ายไม่เคยมี เพราะขึ้นไปทั้งทีต้องได้ภาพดีๆ กลับลงมา การไปดูทะเลหมอกและตะวันยามเช้า นอกจากดอยหัวหมด ยังมีดอยงามที่ผู้คนถามถึงอยู่บ่อยๆ นั่นคือ“ดอยเทียนหยด” หรือ “ม่อนปีกนางฟ้า” (ชื่อหลังคุณอู๊ดดี้แห่งตูกะสูคอจเทจเป็นผู้ตั้ง) “ม่อนนางฟ้า” เป็นดอยที่มองเห็นทัศนียภาพทะเลหมอกได้ 360 องศา  มองท้องฟ้าได้กว้างไกลกว่าที่ใดๆ ตามพื้นดอยยังปรากฏดอกเอนอ้าขนแข็งซึ่งเป็นเอนอ้าแคระ มันผุดดอกม่วงพราวอยู่ตามพื้นดอยเต็มไปหมด ตามไหล่ดอยยังมีดอกเทียนชูช่อล้อสายลม สมเป็นดอยงามที่ผมค้อมคาราวะ นับถือในศักยภาพการเป็นจุดถ่ายภาพทะเลหมอกที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย
.
อุ้มผาง
เป็นเมืองแห่งสายน้ำ มีน้ำอยู่รอบเมือง ทั้งสายเล็กสายใหญ่ การท่องเที่ยวทางน้ำจึงเป็นที่นิยม เช่น ล่องน้ำแม่กลอง ห้วยอุ้มผาง ล่องแก่งอุ้มผางคี และที่โหดสุดๆ คือล่องแก่งทีลอเล สำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไปการเดินทางไปชมน้ำตกทีลอซูเป็นเส้นทางหนึ่งที่น่าสนใจ คือขณะล่องเรือยางจะพบน้ำตกทีลอจ่อ น้ำตกสายรุ้ง น้ำตกมู่ทะลู่ ผ่านหน้าผาหินปูนในรูปลักษณะต่างๆ ตลอดสองข้างทาง แต่ละผามีรูปลักษณ์แตกต่างกัน แต่ละผามีชื่อไม่เหมือนกัน เช่น ผาผึ้ง ผาบ่อง และผาเลือด
.
จากผาเลือด ต้องทิ้งเรือเพื่อไปต่อรถยนต์ (ขับเคลื่อนสี่ล้อ) ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร (โหดหินและดินโคลน) จำได้ว่าช่วง ปี 2545 ช่วงนั้นทีลอซูพุ่งสู่จุดสูงสุดของความนิยม รถติดกันยาวเหยียด ต้องช่วยกันทีละคัน ติดหล่มโคลนบ้าง แหกเส้นทางบ้าง วันนี้เส้นทางยังคล้ายเดิม แต่รถน้อยค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีอะไรมากนอกจากรอดปลอดภัย
.
ที่หน่วยย่อยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืชอุ้มผาง (ทีลอซู) มีลานกางเต็นท์ที่น่านอนที่สุด เป็นสนามหญ้ากว้างใหญ่ ภายใต้ร่มเงาไม้ยืนต้น ด้านหนึ่งเป็นลำธารใส ใครใคร่อาบน้ำในลำธาร..อาบ ใครใคร่อาบน้ำในห้องน้ำ..อาบ ขอแนะนำอาบในลำธารสะดวกดี เย็นเยียบ ได้อารมณ์คนนอนป่า  โดยเฉพาะถ้าช่วงคนเยอะ ห้องน้ำต่อคิวกันยาวเหยียด ส่วนคนที่ไม่อยากนอนค้างก็ทำได้ คือกลับตัวเมืองอุ้มผางไปบนถนนสุดโหด 25 กิโลเมตร ทางลาดยางอีก 14 กิโลเมตร แต่ถ้านอนได้ควรนอนเพราะช่วงเช้าหมอกคลุมป่ามีเสียงสัตว์สาอยู่ล้อมรอบตัว
.
หลุดจากสนามหญ้าเข้าไปคือทางเดินไปน้ำตกทีลอซูระยะทาง 1 กิโลเมตรเศษๆ เดินง่าย เด็กเดินได้ ชราชายเดินดี ระหว่างทางมีพันธุ์พืชให้ศึกษาเพียบ สภาพโดยรวมเป็นป่าดิบชื้น แน่นหนาไปด้วยพันธุ์ไม้หลากสกุล เริ่มตั้งแต่ไม้ยืนต้น ไม้เลื้อย ไม้พุ่ม ไม้คลุมดิน รวมถึงมอส ตะไคร่ และไลเคนที่เติบโตอยู่บนเปลือกไม้ใหญ่ พึ่งพาอาศัยกันไปตามระบบนิเวศน์ เดินช้าๆ ไม่ต้องเร่งรีบ อาจพบกลีบไม้งามซ่อนอยู่ที่ใดที่หนึ่ง มีเฟิร์นหลายสิบชนิดผุดโผล่อยู่สองข้างทาง บ้างอยู่ริมน้ำ บ้างอยู่ลึกเข้าไปในป่า บ้างมีลักษณะคล้ายตะกร้าห้อยระย้าลงมาจากไม้ใหญ่
.
สุดท้ายปลายทาง ธารน้ำกล้อท้อไหลมาจากดอยผะวีจากบริเวณชายแดนพม่า ก่อนล่วงผ่านแผ่นผากลายเป็นน้ำตกใหญ่ต้องตาต้องใจ งดงามราวสายน้ำในนิยายแฟนตาซี มีชีวิต มีความรู้สึก ที่สำคัญ นอกจากความงามที่ปรากฏน้ำตกทีลอซูยังเป็นต้นน้ำแม่กลองที่เราคุ้นเคยกันดี
.
การเดินทางของจบลงในช่วงสามคืนสี่วัน ตลอดการเดินทางมีทั้งความเครียด มีทั้งความสุข แต่ทุกช่วงตอนเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิต แม้เคยสัมผัสมันมาแล้วหลายครั้ง แต่ทุกครั้งแตกต่างกันไป มันกลายเป็นทฤษฎีหนึ่งที่ผมยึดถือ คือไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเส้นทางใหม่หากยังไม่รู้จักมันดีพอ…และที่นี่คือทีลอซู
.
ขอขอบคุณ
-ตูกะสูคอจเทจ
รายการ FOTOdiary