รมว.วัฒนธรรม เปิดงาน ไทยฟุ้ง ปรุงไทย (Thai Taste Thai Fest 2024) “เลิศล้ำภูมิปัญญา เลอค่ารสชาติไทย”

รมว.วัฒนธรรม เปิดงาน ไทยฟุ้ง ปรุงไทย (Thai Taste Thai Fest 2024) “เลิศล้ำภูมิปัญญา เลอค่ารสชาติไทย” ชวนคนไทยชิมอาหารถิ่น เต็มอิ่มคอนเสิร์ตลูกกรุง-ลูกทุ่ง-เพลงพื้นบ้าน

วันที่ 20 ก.ย.2567 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน เปิดงาน ไทยฟุ้ง ปรุงไทย (Thai Taste Thai Fest 2024) “เลิศล้ำภูมิปัญญา เลอค่ารสชาติไทย” ณ ศูนย์การค้าพาราไดซ์พาร์ค โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม, นายสมพล ตรีภพนารถ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจ ศูนย์การค้าบริษัท เอ็มบีเค จํากัด (มหาชน) และนายบริพันธ์ ชัยภูมิ นายกสมาคมนักเพลงลูกทุ่งแห่งประเทศไทย ร่วมด้วยองค์กรภาคีด้านวัฒนธรรม ให้การต้อนรับ

ภายในงาน นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้มอบเกียรติบัตรให้จังหวัดที่ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 18 รายการ 15 จังหวัด / มอบโล่เชิดชูเกียรติผู้ทําคุณประโยชน์ใน การส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 23 ราย และมอบเกียรติบัตร กิจกรรม 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชู อาหารถิ่น “รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste” ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จํานวน 76 จังหวัด และ กรุงเทพมหานคร

จากนั้นชมการสาธิตทางวัฒนธรรม ได้แก่ การปักชุดไทย การแกะสลักผลตูมกา การสานปลาตะเพียนใบลาน การทอผ้าและการเขียนเทียนบนผ้าม้ง การลงถมบนเครื่องประดับ ชมนิทรรศการองค์ความรู้ รายการต้ม ยํากุ้ง และรายการมรดกร่วม เคบายา ซึ่งเป็นรายการเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมที่จับต้อง ไม่ได้ของมนุษยชาติโดยยูเนสโก และสาธิตคอสเพลย์เยอร์ “4 COS คอสเพลย์ 4 ภาค ไทยแลนด์” การแสดง ลวดลายร่ายรำโนราขับร้อง, สีสันชาวดอยเด่นคีรีศรีชาติพันธ์, งิ้วเปลี่ยนหน้า ฯลฯ และขับร้องเพลงลูกทุ่ง โดย แซ็ค ชุมแพ โดยมี อ.ภูพาน เพชรปฐมพร และลูกทุ่งสาว จอมขวัญ กัลยา ร่วมงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเป็นอัตลักษณ์ที่สะท้อนตัวตน ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต อันประกอบด้วย วรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา ศิลปะการแสดง แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณีและงานเทศกาลต่าง ๆ เป็นความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล รวมไปถึงทักษะ งานช่างฝีมือดั้งเดิม หรือแม้แต่ การเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้านและศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ซึ่งถูกสร้างขึ้นและสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน”

“มรดกภูมิปัญญาด้านต่างๆ เป็นทุนทางวัฒนธรรม เป็น soft power สำคัญในการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน การส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จึงมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อประโยชน์ของชุมชนเป็นหลัก เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสาคัญของมรดกภูมิปัญญาฯ ของชาติ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงดำเนินการอย่างรอบด้าน เช่น การบันทึก การวิจัย, การจัดทำบัญชี ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ, การถ่ายทอดความรู้ทักษะ, การประกาศขึ้นบัญชี, การยกย่องเชิดชูเกียรติแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อมรดกฯ, การเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การอนุรักษ์ฟื้นฟู และ การนำเสนอเผยแพร่ความรู้เมนูอาหารถิ่นของทุกจังหวัด ในช่องทางต่าง ๆ ยังได้รับความร่วมมือจาก อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ช่วยสร้างกระแสการรับรู้ ทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศอีกด้วย”

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวอีกว่า “นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรม ยังให้ความสำคัญในการเผยแพร่มรดกภูมิปัญญาของประเทศผ่านเวทียูเนสโก เช่น โขน นวดไทย โนรา สงกรานต์ และที่กำลังจะได้รับการประกาศในปลายปีนี้ ได้แก่ รายการ ต้มยำกุ้ง และ มรดกร่วมเคบายา ที่เสนอร่วมกับสหพันธรัฐมาเลเซีย บรูไนดารุสซาลาม สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และสาธารณรัฐสิงคโปร์ ซึ่ง งานไทยฟุ้ง ปรุงไทย เป็นกิจกรรมที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติสืบทอด สร้างความภาคภูมิใจให้เจ้าของมรดกภูมิปัญญา นับเป็นกิจกรรมที่สำคัญอันจะส่งผลให้มรดก ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติดำรงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป”

งาน “ไทยฟุ้ง ปรุงไทย” (Thai Taste Thai Fest 2024) จัดขึ้นวันที่ 20-22 กันยายน 67 นี้ ณ Royal Park Plaza ชั้น 1 ศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค กทม. พบกับกิจกรรมมากมาย วันเสาร์ที่ 21 กันยายน จัดเสวนาเปิดโลกงานวิจัยวัฒนธรรม ในหัวข้อ ซอฟต์พาวเวอร์ในมิติพหุวัฒนธรรม และการเสวนาเรื่อง “วัฒนธรรมไทยคอสเพลย์เยอร์” ชมคอนเสิร์ตลูกทุ่งศิลปินแห่งชาติและศิลปินยอดนิยม นําโดย ชัยชนะ บุณโชติ, ทศพล หิมพานต์, ศิรินทรา นิยากร, กุ้ง-สุธิราช วงศ์เทวัญ และรุ่ง สุริยา การแสดงจากโขนชุด พระรามตามกวาง การแสดงหนังตะลุง การแสดงสืบ สานศิลป์เสียงแผ่นดินอีสาน และ ลิเกร่วมสมัยสไตล์คอนเสิร์ต ชุด จันทรโครพ

วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน คอนเสิร์ตเพลงลูกกรุง โดย วินัย พันธุรักษ์, สุดา ชื่นบาน, วง สาว สาว สาว (แหม่ม พัชริดา , ปุ้ม อรวรรณ), โตโต้ The Golden Song ขับร้องเพลงลูกทุ่งโดย จอมขวัญ กัลยา การแสดงดนตรีโดยวงดุริยางค์เยาวชนไทย ในพระอุปถัมภ์ฯ, วงดุริยางค์ เครื่องลมเยาวชน, การแสดงสมาคมศิลปินพื้นบ้านอีสานใต้ และการแสดงชุดเพลงพื้นบ้าน “เลิศล้ำภูมิปัญญา เลอค่า รสชาติไทย” โดย น้าโย่ง เชิญยิ้ม ศิลปินแห่งชาติ

ชิมฟรีทุกวันกับเมนูอาหาร 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น “รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste” อาทิ แกงส้มใบ สันดาน จากจันทบุรี แกงอีเหี่ยว จากเพชรบูรณ์ แกงนอกหม้อ จากนครสวรรค์ ยําไก่ผีปู่ย่า จากสุโขทัย นมเนียล จากสุรินทร์ ส้มตีนโคขุนโพนยางคํา จากสกลนคร ขนมพระพาย จากพระนครศรีอยุธยา ขนมขึ้น นครศรีธรรมราช เป็นต้น

#กระทรวงวัฒนธรรม #สมาคมนักเพลงลูกทุ่งแห่งประเทศไทย #ไทยฟุ้งปรุงไทย