Daily Mirror
สร้างสรรค์มุมมอง
อย่างรอบด้าน
เห็นมิติที่กว้างกว่า
Daily Mirror
สร้างสรรค์มุมมอง
อย่างรอบด้าน
เห็นมิติที่กว้างกว่า
วิมานหนาม” ก้าวข้าม “น้ำเน่า”?
โดย จักรภพ เพ็ญแข
วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2567
วันนี้มีงานที่ยกเลิกกะทันหัน ป๊อบกับผมก็เลยชวนกันดูหนังโรง ซึ่งเป็นความรักความชอบของเราที่เคยทำกันอยู่เป็นประจำ แต่เดี๋ยวนี้แทบจะไม่มีเวลาดูอีกแล้ว หนังเรื่องนี้ต้องถือว่าคุ้มค่าคุ้มเวลา เพราะดูแล้วก็ให้เกิดท้องไส้ปั่นป่วน ผะอืดผะอม อารมณ์ดีดขึ้นดีดลง และลืมโลกภายนอกไปเลยตลอดทั้งเรื่อง ผมกำลังพูดถึงหนังไทยที่กำลังเทรนดี้อย่างแรงในขณะนี้คือ “วิมานหนาม” ซึ่งเล่าถึงความรัก ความคั่งแค้น ความริษยา ความโลภ สัญชาติญาณสัตว์ในตัวมนุษย์ ที่ล้วนนำไปสู่ความรุนแรงของจิตใจและร่างกาย อันเกิดขึ้นและแตกดับครั้งแล้วครั้งเล่าอยู่ภายในสวนทุเรียนอันกว้างใหญ่แห่งหนึ่ง
คงจะไม่เล่าพล็อตของหนังให้เป็น spoilers เพราะใจจริงอยากให้ทุกได้ท่านดูเอง อยากบอกแต่เพียงว่า ผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้เหนือชั้นมาก มีความสันทัดชัดเจนในการสร้างอารมณ์ บิดอารมณ์ พัฒนาอารมณ์ และดึงอารมณ์ของคนดูให้ขึ้นลงและจดจ่ออยู่กับทุกบททุกตอนของการเล่าเรื่องอย่างชนิดป้องกันตัวไม่ได้เลย ประเด็น LGBTQ+ ที่ผมนึกว่าจะเป็นประเด็นหลักของเรื่อง ความจริงเป็นเพียงเครื่องมือช่วยเล่าเรื่องว่า “ความรัก” นำมาสู่ความสมหวังและผิดหวัง หรือความรักอันมีผลประโยชน์และเจตนาแฝงเร้นเจือปนอยู่ด้วยนั้น นำไปสู่ความคั่งแค้นและความรุนแรงได้อย่างไร ไม่ว่าความรักนั้นจะเกิดกับเพศเดียวกันหรือต่างเพศก็ไม่สำคัญ ความเป็น LGBTQ+ จึงกลายเป็นเพียงประเด็นเสริมของภาพยนตร์เรื่องนี้
หนังเรื่องนี้ขุดเอาหัวใจของ “สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน” (สำนวนของคุณวินทร์ เลียววาริณ) ออกมาเล่าว่า ในยามที่เกิดความเห็นแก่ตัวอย่างสุด ๆ มนุษย์สามารถจะใช้เล่ห์เหลี่ยม ชั้นเชิง ความมืดดำในหัวใจของตนเพื่อเอาชนะคะคานกันอย่างไรบ้าง สุดท้ายก็ถึงกับลืมไปว่า สิ่งที่ตนต้องการแต่แรกคืออะไร ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจึงเกือบจะนำไปสู่ความว่างเปล่าของจิตวิญญาณและต้องจากโลกนี้ไปอย่างไร้ความหมาย ในแง่นี้ คนรวย คนจน คนเมือง คนบ้านนอก ไม่มีความแตกต่างกันเลย แนวความคิดน้ำเน่าของเมืองไทยที่ว่า คนเมืองมีแต่เล่ห์เหลี่ยมและความไม่จริงใจ และคนต่างจังหวัดมีแต่ความบริสุทธิ์ใจไร้เดียงสา ถูกฉีกออกเป็นชิ้น ๆ ด้วยความจริงทางสังคมที่ปรากฏชัดในหนังเรื่องนี้ คนอาจเลวได้เหมือนหมดหากสถานการณ์เอื้ออำนวยให้หรือเมื่อสันดานดิบถูกขุดคุ้ย
การแสดงและการกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้มีความแยบยล แนบเนียน และสมจริง ผมรู้สึกชื่นชมต่อตัวผู้กำกับภาพยนตร์ คุณบอส-นฤเบศ กูโน โดยที่ไม่เคยมีโอกาสได้ชมงานอื่น ๆ ของเขามาก่อนเลย การเล่าเรื่องมีจังหวะจะโคนที่ดีโดยตลอด ไม่รู้สึกสะดุด อาจมีเพียงฉากเกือบสุดท้ายคือโศกนาฏกรรมในสวนทุเรียนที่ออกจะมีลักษณะเร่งเวลาและยัดเยียดอยู่บ้าง ไม่ต่างกับฉากซอมบี้ในภาพยนตร์ชั้นเยี่ยมอีกเรื่องหนึ่งคือ “ร่างทรง“ ที่ทำให้คุณค่าของหนังเสียไป ผมคิดว่าการหาบทสรุปจบเพื่อทำให้ภาพยนตร์ไม่ยาวจนเกินไป คือความท้าทายอย่างใหม่ในศิลปะภาพยนตร์ในยุคปัจจุบัน เมื่อชมผู้กำกับแล้วก็ต้องชมผู้เขียนบททั้งคู่คือ คุณการะเกด นรเศรษฐาภรณ์ และคุณณรณ เชิดสูงเนิน ด้วยที่ผลิตผลงานชิ้นโบว์แดงออกมาได้อย่างน่าภาคภูมิใจ
ถ้าหนังเรื่องนี้จะสอนอะไรบ้าง ผมคิดว่าบทเรียนใหญ่ที่สุดคือ มนุษย์ไม่มีความแตกต่างกันเลย ไม่ว่าจะในทางเชื้อชาติ ศาสนา ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือรูปลักษณ์ทางร่างกาย ลึกลงไปแล้ว คนก็คือคนที่ยังถูกกระตุ้นด้วยกลไกของ รัก โลภ โกรธ หลง ได้ตลอด ความเสมอภาคที่เรียกร้องกันมากในปัจจุบันก็คือความเสมอภาคใน รัก โลภ โกรธ หลง ด้วยเช่นเดียวกัน ถ้าเราไม่ระวังให้ดี
“วิมานหนาม” เล่าถึงความแหลมคมที่สามารถสร้างความเจ็บปวดทรมานได้ลึกซึ้งและกว้างไกลในชีวิตมนุษย์เหนือขอบเขตของสวนทุเรียนมากนัก.
จักรภพ เพ็ญแข
30 ส.ค. 2567
#วิมานหนาม #ภาพยนตร์ #จักรภพ #จักรภพเพ็ญแข