ดร.วิชิต” ติดตามสถานการณ์น้ำ ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี

“ดร.วิชิต” ติดตามสถานการณ์น้ำ ในพื้นที่จังหวัดอุดรธา

.

.

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2567 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้มอบหมายให้ ดร.วิชิต ปลั่งศรีสกุล ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายปัญญา พุกราชวงศ์ คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประกาศ นาโควงษ์ ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสุขุม เชิดชื่น ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะทำงาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและการรับฟังแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดอุดรธานี ในวันที่ 4 สิงหาคม 2567 และได้รับเกียรติจาก นายณฐพล วิถี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เข้าร่วมการประชุม ดังกล่าว

.

.

สาระสำคัญของการตรวจเยี่ยมประกอบด้วย การติดตามสถานการณ์น้ำจาก โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่โครงการประเภทเขื่อนระบายน้ำ หัวงานแห่งแรก ตั้งอยู่ที่บ้านหัวขัว ตำบลเมืองเพีย อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี เริ่มก่อสร้างในปี ๒๔๘๓ เพื่อส่งน้ำช่วยเหลือเกษตรกรในเขต อำเภอเมือง และอำเภอกุดจับ พื้นที่ชลประทาน ๔๐,๐๐๐ ไร่

ประกอบด้วยคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา คลองซอย และคลองแยกซอย ความยาวรวม ๔๕.๘๑๐ กิโลเมตร ต่อมาในปี ๒๕๑๓ มีการก่อสร้างเขื่อนห้วยหลวง ที่บริเวณบ้านโคกสะอาด ตำบลโคกสะอาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี อยู่ทางตอนเหนือของเขื่อนระบายน้ำเดิมขึ้นไป ๗.๕ กิโลเมตร ก่อสร้างคลองส่งน้ำฝั่งขวาใหม่เชื่อมกับคลองส่งน้ำฝั่งขวาเดิม และก่อสร้างระบบชลประทานเพิ่มเติม เพื่อขยายพื้นที่ ส่งน้ำในเขต อำเภอเมือง และ  อำเภอกุดจับ โดยมีพื้นที่ชลประทาน ๙๕,๗๕๐ ไร่ จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมทำให้ได้รับฟังประเด็นปัญหาของเกษตรกรจากอำเภอหนองแสง อำเภอทุ่งฝน อำเภอกุดจับ อำเภอหนองหาน อำเภอวังสามหมอ อำเภอเมือง อำเภอกุมภวาปี อำเภอภูแก้ว อำเภอโนนสะอาด

.

.

อาทิ ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ต้นทุนการเกษตรมูลค่าสูง การปลูกพืชเชิงเดี่ยว การขาดแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การขาดเมล็ดพันธุ์ที่ดี ความต้องการได้รับการสนับสนุนด้านการเกษตร ความต้องการแหล่งน้ำพลังงานโซลาร์เซลล์ เป็นต้น จึงได้ร่วมกันระดมความเห็นและแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันจากหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้จึงได้วางแนวทางแก้ไขปัญหาโดยการสร้างความร่วมมือในการสร้างจังหวัดอุดรธานี โมเดล กับหน่วยราชการระดับอำเภอ จังหวัดสังกัดกระทรวงมหาดไทย

และทั้งนี้ได้รับทราบความก้าวหน้าของภาคการเกษตรของจังหวัดอุดรธานี ทั้งในด้านปศุสัตว์ เช่น โคเนื้อ การส่งเสริมการอนุรักษ์ควายไทยบ้านเชียง การส่งเสริมการปลูกพืชอาหารเลี้ยงสัตว์     การส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ ด้านประมง มีการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์น้ำ การมีธนาคารพันธุ์ปลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการเลี้ยงกบ และขายสู่ตลาดในประเทศและ สปป.ลาว และตลาดมีความต้องการ ๑๐ ตันต่อเดือน และการส่งเสริมการเลี้ยงปลาตะเพียน เพื่อแปรรูปอาหารไปสู่การทำปลาส้ม ด้านหม่อนไหม มีการส่งเสริมการปลูกต้นหม่อน และการเลี้ยงหนอนไหม และต่อยอดไปสู่การทอผ้าไหม เพื่อให้ได้รับตรานกยูงพระราชทาน ด้านพืช มีการส่งเสริมให้จังหวัดอุดรธานีเป็นเมืองแห่งพืชสมุนไพร และนำสมุนไพรมาแปรรูปเป็นลูกประคบส่งออกขายในตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ

รวมถึงการส่งเสริมการทำการเกษตรอินทรีย์ ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี มีการนำเทคโนโลยีมาใช้และมีการขยายพื้นที่ต้นแบบ การมีโรงคัดแต่งและการแปรรูปสินค้า อันนำมาซึ่งการนำนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่กล่าวว่า “เกษตรนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” มาเพิ่มเติมและต่อยอดความกินดีอยู่ดีให้กับเกษตรกรต่อไป