Daily Mirror

สร้างสรรค์มุมมอง
อย่างรอบด้าน
เห็นมิติที่กว้างกว่า

ศรชล.ภาค 2 บูรณาการหน่วยงานในโครงสร้าง ศรชล. “ตรวจสอบเรือประมงต่างชาติ” ลักลอบเข้ามาซ่อมทำ ภายในประเทศ…โดยไม่ได้รับอนุญาต!!!

น.อ.สามารถ กลิ่นคำหอม หัวหน้าศูนย์ควบคุม ฯ ได้ตรวจพบเรือสัญชาติอินโดนีเซีย จำนวน ๕ ลำ เข้ามาจอดซ่อมทำในอู่เรือศรีสงขลา ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จังหวัดสงขลา

ศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือจังหวัดสงขลา ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค ๒ โดย น.อ.สามารถ กลิ่นคำหอม หัวหน้าศูนย์ควบคุม ฯ ได้ตรวจพบเรือสัญชาติอินโดนีเซีย จำนวน ๕ ลำ เข้ามาจอดซ่อมทำในอู่เรือศรีสงขลา ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ ๒๐ ธ.ค.๖๔ ซึ่งเป็นการเข้ามาไม่ถูกต้องตามกฎข้อบังคับตาม พ.ร.บ.เดินเรือในน่านน้ำไทย มาตรา ๑๘ ที่พูดถึงเรือต่างประเทศ เมื่อเข้ามาในเขตท่าเรือใด ๆ ในน่านน้ำไทย นายเรือต้องรายงานการเข้ามาถึง ต่อเจ้าท่าตามแบบพิมพ์ของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี ภายในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง นับแต่เวลาที่จอดเรือเรียบร้อย ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าเรือได้เข้ามาตั้งแต่วันที่ ๑๖ ธ.ค.๖๔

ศูนย์ควบคุมความมั่นคงทำเรือจังหวัดสงขลา ได้นำเรียน นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดสงขลา สั่งการให้บูรณาการหน่วยงานในโครงสร้าง ศรชล. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ศรชล.จังหวัดสงขลา , สาธารณสุขจังหวัดสงขลา, สาธารณสุขอำเภอสิงหนคร, นายอำเภอสิงหนคร, สถานีตำรวจภูธรสิงหนคร สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาสงขลา สำนักงานประมงจังหวัดสงขลา ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา ศูนย์บริหารจัดการด่านตรวจประมงเขต ๘ สงขลา เข้าตรวจสอบเรือ ในเบื้องต้น พบว่าเรือสัญชาติอินโดนีเซีย ทั้ง ๕ ลำ มีลักษณะคล้ายเรือประมง แต่ไม่มีเครื่องมือประมงแต่อย่างใด สาธารณสุขอำเภอสิงหนคร ได้ทำการตรวจคัดกรองโควิดลูกเรือ จำนวน ๑๕ ราย และกักตัวลูกเรืออยู่บนเรือเป็นเวลา ๑๔ วัน เจ้าท่าภูมิภาคสาขาจังหวัดสงขลา ได้แจ้งความผิดตาม พ.ร.บ.เดินเรือในน่านน้ำไทย มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ และทำการปรับตาม มาตรา ๒๕ ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา แจ้งการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง .ศ.๒๕๐๒ มาตรา ๒๕, มาตรา ๖๖ เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะไม่แจ้งกำหนดวันและเวลาที่พาหนะจะเข้ามาถึงหรือจะออกจากเขตท่า สถานีหรือท้องที่ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ทำการตรวจคนเข้าเมือง นักวิชาการประมง ดำเนินการควบคุมเรือทั้ง ๕ ลำ ไว้ ณ ท่าอู่เรือศรีสงขลา โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๐๒ (๔) แห่ง พ.ร.บ.การประมง ฯ เพื่อดำเนินการตรวจสอบ และควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมาย

ในส่วน ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค โดย พลเรือโท สุนทร คำคล้าย ผู้อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค ๒ได้มอบหมายให้ พลเรือตรี สุรศักดิ์ ประทานวรปัญญา รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค ๒ เรียกประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมอบหมายให้ กก ๗ บก.รน. สอบถ้อยคำลูกเรือเพื่อขยายผลสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาความผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค ๒ ได้พิจารณาเห็นถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย หากเรือดังกล่าว เป็นเรือประมงผิดกฎหมายหรือที่มีชื่ออยู่ในบัญชีชื่อ IUUList แล้วไม่มีการดำเนินการใดๆ ก็จะเป็นการกระทำผิดต่อการแก้ปัญหา IUU Fishing ซึ่งอาจทำให้ประเทศไทย ได้รับใบเหลืองจาก EU อีกครั้ง จึงมีนโยบายให้ตรวจสอบความถูกต้องของเรือและคนประจำเรืออย่างละเอียดและดำเนินการตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด สำหรับการตรวจสอบ IUU Fishing ได้ส่งเรื่องให้ กรมประมงดำเนินการต่อไป